บทบรรณาธิการ – ปิดกั้นเสรีภาพ

Home » บทบรรณาธิการ – ปิดกั้นเสรีภาพ



สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคุกรุ่น มีความหวาดระแวง และตั้งคำถามต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ นับตั้งแต่ปฏิบัติการปิดล้อมจับตายผู้ต้องหาในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่าลุกลามจนกระทั่งนำไปสู่การออกหมายเรียกผู้สื่อข่าว 2 ราย สังกัดสำนักข่าวท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ ให้มารับทราบข้อหา

โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางในกลุ่มประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

เหตุการณ์สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.พ. หลังเจ้าหน้าที่ปิดล้อมและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหา ต่อมากลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและชาวบ้านจำนวนมากเดินทางมาที่เกิดเหตุ

ระหว่างนั้นกระทบกระทั่งกัน และฝ่าแนวกั้นเจ้าหน้าที่ เพื่อขอนำศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ขอเวลาเพื่อตรวจเก็บหลักฐาน และนำรถกู้ชีพอบต.ลำเลียงศพออกจากสถานที่เกิดเหตุ

แต่ขณะที่ญาติจะขอขึ้นรถไปด้วยกลับเกิดเหตุสื่อสารไม่เข้าใจกัน สถานการณ์ชุลมุนวุ่นวาย กลุ่มชาวบ้านไล่ติดตามรถเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่พอใจ และนำศพกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา

เหตุการณ์วันนั้นปรากฏเป็นรายงานข่าวอย่างกว้างขวาง พร้อมกับคำถามต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปะทุต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ดังที่สังคมไทยรับทราบกันเป็นอย่างดี แต่หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาลเลือกใช้นโยบายการทหารนำการเมืองอย่างเข้มข้น

ยังคงใช้ทั้งกฎอัยการศึก สถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับใช้กฎหมายติดตามจับกุมผู้ต้องหาอย่างดุดัน นำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรม หรือผู้ต้องสงสัยบางรายถูกนำตัวไปซักถาม และเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

แม้รัฐบาลอ้างถึงความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุข แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังพยายามก่อเหตุรุนแรง และเริ่มถี่ขึ้นในช่วงหลัง แสดงว่าการพูดคุยยังไม่ครอบคลุมและชัดเจนเพียงพอหรือไม่

รวมถึงกรณีล่าสุดใช้กฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเรียกร้อง และการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในพื้นที่ด้วยหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ