บทบรรณาธิการ – ปัญหายุบสภา

Home » บทบรรณาธิการ – ปัญหายุบสภา



สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบวาระ 4 ปีในวันที่ 23 มีนาคม 2566 หรืออีกราว 3 เดือนนับจากนี้

เดิมนั้นมีการคาดหมายกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจประกาศยุบสภาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคมปีหน้า ก่อนสภาครบวาระ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับพรรคที่ตนเองสังกัด อยู่เหนือพรรคคู่แข่ง ก่อนไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

แต่แล้วปัญหาที่สอดแทรกเข้ามาคือเหตุการณ์สภาล่มซ้ำซากในช่วงปลายสมัยรัฐบาล ประกอบกับการเมืองในภาพรวม เกิดความไม่แน่นอนสูง จนส่งผลกระทบต่อจำนวนเสียงส.ส.ที่เป็นองค์ประชุมในสภา

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการมีสภาพลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดการยุบสภา เร็วกว่ากำหนดหรือไม่

มีการวิเคราะห์สาเหตุสภาล่มซ้ำซาก ส่วนหนึ่งเป็นเจตนาของส.ส.บางส่วน ต้องการผลักดันให้การยุบสภาเกิดขึ้น เพราะบางคนอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่แสดงตัว หรือบางคนอยู่นอกห้องประชุม แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่เข้ามาร่วมเป็นองค์ประชุม

กับส.ส.อีกส่วนหนึ่งที่เป็นห่วงการเมืองที่กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง จึงเลือกให้ความสำคัญกับงานการเมืองในพื้นที่ เพื่อรักษาสถานะความเป็นส.ส.ของตนในการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาถึงที่สุดแล้ว มากกว่าให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ในสภา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่กำลังคิดย้ายพรรค เพื่อหาความมั่นคงใหม่ เนื่องจากครั้งนี้ระบบการเลือกตั้ง เปลี่ยนมาเป็นบัตรสองใบ สูตรหาร 100 ทำให้ต้องเตรียมพร้อมตั้งหลักโดยเร็ว เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของตน งานในสภาจึงต้องพักไว้ก่อน ขอเอาตัวรอดก่อน

นักการเมืองด้วยกันเองยังมองว่า โอกาสที่ส.ส.จะทยอยลาออกจำนวนมาก มีโอกาสเกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า

นอกจากทำให้สภาเดินหน้าต่อได้ลำบาก ยังก่อให้เกิดแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะหากส.ส.ที่ลาออกเพื่อย้ายไปอยู่พรรคใหม่จำนวนมาก เป็นส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะทำให้เสียงรัฐบาลกลับมาปริ่มน้ำอีกครั้ง การผ่านกฎหมายสำคัญๆ จะทำไม่ได้ เมื่อควบคุมสภาไม่ได้ โอกาสที่มีผู้มีอำนาจจะตัดสินใจยุบสภา จึงเป็นไปได้สูง

หากสถานการณ์เดินไปถึงจุดที่ว่าจริง ก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะการที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อยู่ในขั้นตอนกระบวนการ ยังไม่ประกาศใช้

อาจทำให้การยุบสภาไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ เป็นสิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมือง ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ