คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ประชาธิปไตยซัมมิต
กรณีที่รัฐบาลไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่สหรัฐอเมริกาจะจัดทางออนไลน์ วันที่ 9-10 ธ.ค.นี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ
แม้ว่าไทยเป็นพันธมิตรยาวนานที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และกำลังจะมีอีกในปี 2565
แต่พัฒนาการทางประชาธิปไตยหยุด และถอยหลังบ่อยครั้ง อีกทั้งกลุ่มได้เปรียบทางการเมืองยังอ้างว่าต้องการปั้นรูปแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ขึ้นมา ทั้งที่รู้ว่าเมื่อการดึงดันทำเช่นนั้นจะทำให้ประชาธิปไตยดูปลอมต่อไปเรื่อยๆ
การตอบโต้ถึงการไม่ได้เข้าร่วมเวทีนี้ จึงไม่ควรแสดงออกในเชิงองุ่นเปรี้ยว เพราะอาจดูด้อยค่าตนเองลงไปอีก
แม้เวทีการประชุมประชาธิปไตยของสหรัฐ ถูกมองว่ามีเป้าหมายทางการเมืองใน การเผชิญหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเทียบเชิญ 110 ประเทศและดินแดน มีไต้หวันรวมอยู่ด้วย
แต่เมื่อพิจารณาว่าสหรัฐไม่เคยปิดบังว่าตนเองต้องการเป็นผู้นำในโลกประชาธิปไตย และพยายามปกป้องระบอบและอุดมการณ์นี้อย่างเต็มที่
การคัดเลือกชาติที่เข้าร่วมประชุมคง ไม่ได้หมายความว่าต้องการบีบให้ชาตินั้นๆ เลือกข้าง หรือตัดสินว่าชาตินั้นๆ มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว
แต่เป็นการยืนยันว่า รัฐบาลประเทศที่ได้รับเชิญมีทิศทางที่ถูกที่ควร
เป้าหมายการประชุมเวทีนี้ สหรัฐประกาศว่าเพื่อหาทางช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตย และการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก
ดังนั้น จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าประเทศที่ปฏิบัติต่อประชาชนไม่ชัดเจนในด้านเสรีภาพ แม้จะเป็นพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลาง หรือยุโรป ไม่ได้รับเชิญเช่นเดียวกัน
ยิ่งเมื่อมีประวัติปราบปรามประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ยิ่ง ไม่เหมาะให้ร่วม
นอกจากไม่ช่วยหาหนทางแก้ไขสถานการณ์แล้ว อาจเป็นผลลบหรือเหนี่ยวรั้งการพัฒนาด้วย