บทบรรณาธิการ : น้ำหนุนเมืองจม

Home » บทบรรณาธิการ : น้ำหนุนเมืองจม


บทบรรณาธิการ : น้ำหนุนเมืองจม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

น้ำหนุนเมืองจม

ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงจนน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยบ้านเรือนประชาชนและถนนหลายสายในพื้นที่กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ เกิดขึ้นช่วงที่เวทีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ยังคงประชุมอยู่ที่สกอตแลนด์

กลายเป็นตัวอย่างตอกย้ำถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะเป็นอันตรายต่อดินแดนและชุมชนริมแม่น้ำติดทะลหรือล้อมรอบด้วยทะเลมากยิ่งขึ้น

คำประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ใกล้เคียงให้เฝ้าระวังผลกระทบช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 5-14 พ.ย. และ 20-26 พ.ย. เป็นเพียงการเตือนได้ในระยะสั้น

แต่น่าหวั่นใจคือปรากฏการณ์นี้นอก จากจะไม่จบสิ้น ยังจะเกิดบ่อยขึ้นและอาจเกิดผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อปี 2555 เคยเตือนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุเขตร้อนรุนแรงขึ้น และฝนตกหนักขึ้น โดยมีกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจมบาดาล

เช่นเดียวกับรายงานของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กรีนพีซ ระบุถึงกรุงเทพฯ ว่ารวมอยู่ในบรรดาเมืองชายฝั่งทั่วเอเชียที่เผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากขึ้น ด้วยปัจจัยเดียวกัน

เมื่อประเมินจากภูมิประเทศพื้นที่ลุ่มต่ำถึง ร้อยละ 96 ของกรุงเทพฯ รวมถึงการขยายตัว ของเมือง และระดับน้ำทะเลหนุน ยิ่งทำให้มหาอุทกภัยทุกสิบปีเป็นไปได้มากขึ้นภายในปี 2573 หรือ ค.ศ.2030

ขณะที่ประชากรเกิน 10 ล้านคนจะได้รับผลกระทบร้ายแรง

คําเตือนในอดีตที่ส่งสัญญาณเกิดขึ้นจริงในปัจจุบันตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องปรับแผนงานและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง และแผนพัฒนาเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่ทำรายงานกันในกลุ่มคณะไปสัญญาบนเวทีโลก หรือแก้ปัญหาแบบรอฟ้ารอฝน

ปล่อยให้ประชาชนยืนงงอยู่กลางน้ำที่หลากท่วมบ้านและถนน แม้แต่อาคารรัฐสภา สัปปายะ สภาสถาน ก็อาจเสี่ยงจมด้วย

ถ้าถึงตอนนั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจล้นเกินที่ประเมินไว้ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ