ยังไม่มีสัญญาณยุบสภา แต่พรรคการเมืองทุกขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงพรรคตั้งใหม่ คึกคักเป็นอย่างยิ่ง
ปลายสัปดาห์ก่อน การประชุมใหญ่สองพรรคตั้งใหม่ สร้างอนาคตไทย กับไทยสร้างไทย เตรียมพร้อมทำศึกเลือกตั้ง
พรรคสร้างอนาคตไทยประชุมกรรมการบริหารพรรค มีมติเห็นชอบตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานพรรค
พรรคไทยสร้างไทย ที่ประชุมใหญ่มีมติแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ทั้งนายสมคิด และคุณหญิงสุดารัตน์ ได้รับวางตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรค ซึ่งเป็นการยืนยันไปในตัวว่า สองพรรคนี้จะไม่ยุบควบรวมกับพรรคอื่นแน่นอน
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้
อย่างไรก็ตามไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในบัญชีของทุกพรรค จะมีสิทธิได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีต้องมาจากบัญชีพรรค ที่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
กล่าวคือส.ส. 500 คน พรรคนั้นต้องมีส.ส.อย่างน้อย 25 คน จึงจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคตนเองได้
นอกจากนี้การเสนอชื่อยังต้องมี ส.ส.อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือต้องมีส.ส.อย่างน้อย 50 คนเป็นผู้รับรอง
จากหลักเกณฑ์นี้ พรรคตั้งใหม่จำเป็นต้องได้ส.ส. 25 คนในขั้นแรก แม้จะยาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้
นิด้าโพล สำรวจแนวโน้มพฤติกรรมในการเลือกตั้งบัตรสองใบ ส.ส.เขต กับส.ส.บัญชีรายชื่อ
ร้อยละ 38.03 ระบุจะเลือกส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเดียวกัน ร้อยละ 16.85 จะไม่เลือกพรรคเดียวกัน ที่เหลือยังไม่แน่ใจ
ความต้องการเปลี่ยนส.ส.ในเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 30.41 ไม่อยากเปลี่ยน ร้อยละ 28.28 อยากเปลี่ยนมาก ร้อยละ 19.21 ค่อนข้างอยากเปลี่ยน และร้อยละ 11.97 ไม่ค่อยอยากเปลี่ยน
แนวโน้มการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยละ 32.39 ระบุเลือกพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 21.34 เลือกพรรคใหม่ที่ยังไม่มีส.ส. ร้อยละ 10.82 เลือกพรรคฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 34.99 ยังไม่แน่ใจ
จากหลักเกณฑ์และกระแสประชาชน พรรคตั้งใหม่ที่ชื่อเสียงไม่โด่งดัง ยังไม่มีผลงาน เลือกตั้งครั้งหน้าจึงท้าทายอย่างมาก ยกเว้นตั้งขึ้นมาเพื่อหวังได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคผู้ชนะ ซึ่งไม่ใช่หนทางการทำการเมืองเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง