บทบรรณาธิการ : ทำไมยังมีการชุมนุม

Home » บทบรรณาธิการ : ทำไมยังมีการชุมนุม



คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ทำไมยังมีการชุมนุม

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยหวนกลับมาอีกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นช่วงเวลาหลังการเปิดประเทศ แต่ยังไม่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เกิดขึ้นหลังจากตัวแทนประเทศไทยไปชี้แจงต่อที่ประชุมการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

และเป็นจังหวะหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่เรียกร้องการปฏิรูป เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความเกี่ยวพันทั้งหมดของเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่า สังคมไทยต้องการเวทีสำหรับการพูดจาทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาและยกระดับประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

การตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ไปจนถึงคำชี้แจงของประเทศไทยบนเวทีโลกยังเป็นที่สงสัยถึงกลไกและกระบวนการทางประชาธิปไตยของไทย ว่าให้สิทธิและรับฟังเสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินต่อเนื่องและมีผลผูกพันมาจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2557

แม้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่การบังคับใช้กฎหมาย การใช้อำนาจบริหารผ่านระบบราชการ การแต่งตั้งองค์กรอิสระ รวมถึงการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในยุครัฐประหารยังคงดำรงอยู่

คณะปกครองจึงยังคงเป็นผู้ตัดสินใจและควบคุมกลไกและอนาคตของประเทศ ส่งผลให้การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเผชิญปัญหาและอุปสรรค

รัฐบาลไทยบอกกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นว่าให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ โดยมีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์

แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร สะท้อนผ่านเหตุการณ์เผชิญหน้าบนท้องถนนและการแสดงท่าทีของรัฐบาลอย่างไร เป็นสิ่งที่ประชาชน และนานาประเทศเห็นอยู่ว่า “ตรงปก” หรือ “ไม่ตรงปก”

หากรัฐบาลไม่พูดความจริง และไม่ยอมรับความจริง การชุมนุมของกลุ่มประชาชนเพื่อแสดงออกถึงสภาพความเป็นจริงก็มีแนวโน้มจะดิ้นรนต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ