คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 แถลงทวงถามหาความยุติธรรม โดยมีญาติผู้ได้รับผลกระทบ นักกฎหมาย ทนายความ ตลอดจนคนเสื้อแดง และแนวร่วมประชาชนผู้รักความยุติธรรมร่วมด้วย
จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516 ภายในงานจัดนิทรรศการการใช้กำลังปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 พร้อมรายชื่อผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 จึงก่อตั้งขึ้น เพื่อทวงความยุติธรรมจากการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนหลังรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องกันมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ยังทำความจริงให้ปรากฏไม่ได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนญาติพี่น้องรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดเวลาที่ผ่านมา
อีกทั้ง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้อมปราบ ทั้งผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่า ยังลอยนวลพ้นผิด กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบนและหยุดชะงัก นับจากรัฐประหาร 2557 จนถึงขณะนี้
ทั้งๆ ที่ผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลชี้ไว้อย่างชัดเจนใน 17 ศพ จากจำนวนคนตายทั้งหมด สิ้นใจจากกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร
การรัฐประหาร 2557 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมล่าช้า ขาดตอน และหลายคดีต้องยุติลง ด้วยการทำให้ดำเนินการต่อไม่ได้
สาเหตุสำคัญเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคล กลุ่มบุคคล และฝ่ายสนับสนุน ต่างอยู่ร่วมในกระบวนการยึดอำนาจครั้งนั้นด้วย
คณะทำงานชุดนี้ จะรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ไต่สวนแล้วและยังไม่ได้ดำเนินการ ให้เข้ากระบวนการยุติธรรมต่อ และร้องทุกข์เพื่อให้คดีเดินหน้าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบ
อีกทั้ง เรียกร้องและเร่งผลักดันให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารทำความผิดต่อพลเรือน จะต้องพิจารณาคดีในศาลพลเรือนเท่านั้น
ที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ที่สังคมไทยปล่อยให้อาชญากรรมต่อเพื่อนร่วมชาติเป็นเรื่องซุกขยะไว้ใต้พรม ผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกดำเนินคดี และลอยนวลอยู่ได้
การรื้อฟื้นดำเนินการต่อในกรณีล้อมปราบปรามประชาชนปี 2553 จึงเป็นเรื่องต้องทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เนิ่นช้า เพราะถ้าความยุติธรรมไม่มี ก็ยากที่ความสามัคคีจะเกิดขึ้น