บทบรรณาธิการ : ต้องรับฟังจะนะ

Home » บทบรรณาธิการ : ต้องรับฟังจะนะ


บทบรรณาธิการ : ต้องรับฟังจะนะ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ต้องรับฟังจะนะ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงความจำเป็นต้องสลายการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อค่ำวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา

โดยอ้างถึงการข่าวจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติม อีกทั้งทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ราชการ เป็นพื้นที่หวงห้าม เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม จับกุมชาวบ้าน 37 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงวัย

แต่สำหรับภาคสังคม นักวิชาการ และภาคประชาชนกลับไม่มองเช่นนั้น ตั้งคำถามและข้อท้วงติงต่อปฏิบัติการดังกล่าวรุนแรงเกินกว่าเหตุ ละเมิดลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กตัวน้อย การชุมนุมอย่างสันติเป็นเครื่องมือเดียว ที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุนเอารัดเอาเปรียบ

โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า แห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สุดในภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 หมื่นไร่

ด้วยโครงการมหึมา ย่อมคาดหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลจากภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องคำนึงความสูญเสีย และผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนและ สิ่งแวดล้อมด้วย

ที่สำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 โครงการถูกผลักดันอย่างผิดปกติ ด้วยคำสั่งคณะรัฐประหาร พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง จึงขาดการมีส่วนร่วมเท่าที่ควรจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคัดค้านที่จะได้รับผลกระทบ

นอกจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีปัญหาการกว้านซื้อที่ดินของนักการเมืองและกลุ่มทุน

การออกมาทวงสัญญาของกลุ่มคัดค้าน และส่วนหนึ่งเดินทางมาขอคำตอบถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากภายหลัง 1 ปี ที่รัฐบาลลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความผิดปกติของโครงการ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาโครงการเสียใหม่ ที่ต้องดำเนินการโดย นักวิชาการที่เป็นกลางและยอมรับจากทุกฝ่าย

โดยระหว่างนี้ต้องระงับโครงการไว้ก่อน ไม่ใช่ยังมีความพยายามจัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้โครงการ ซึ่งมีแต่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

ดังนั้นรัฐบาลต้องรับฟังและแก้ปัญหาความเดือดร้อน ไม่ใช่ใช้กำลังและกฎหมายปราบปรามอย่างแข็งกร้าวต่อประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ