กรณีบุคคลรายหนึ่งอ้างสามารถล้วงข้อมูลบุคคลของคนไทย 55 ล้านรายชื่อ โดยระบุได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง พร้อมกับโพสต์ตัวอย่างไฟล์ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเกิด หมายเลขโทรศัพท์ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน
รวมทั้งโพสต์ข่มขู่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว พร้อมกับการตั้งคำถามของสังคมต่อข้อมูลบุคคล ซึ่งเป็นความลับส่วนตัวหลุดรอดรั่วไหลสู่สาธารณะได้อย่างไร
ต่อมาตำรวจสืบสวนทราบว่าผู้ก่อเหตุเอาข้อมูลมาจากแอพพลิเคชั่นด้านสาธารณสุขของรัฐ และรู้ตัวผู้ก่อเหตุแล้ว จนนำไปสู่การจับกุมทหารยศจ่าสิบโท สังกัดกองทัพบก
เป็นเหตุการณ์ที่สังคมตั้งคำถามกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียเอง
จากการสอบสวนทราบว่าผู้ต้องหามีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอ้างว่าพบข้อมูลในเว็บไซต์ประกาศขายข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยความอยากรู้จึงสั่งซื้อข้อมูลส่วนบุคคล 8 ล้านรายชื่อ ในราคา 8,000 บาท
จากนั้นวางแผนเพื่อสร้างความสนใจ เริ่มจากทดลองส่งข้อความไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ซื้อข้อมูลมา ปรากฏว่าสำเร็จ ก่อนกระจายข้อความไปยังบุคคลอื่นๆ
นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังอ้างด้วยว่าไม่ได้มีเจตนาปล่อยข้อมูล และไม่อยากให้สังคมมองทหารเสื่อมเสีย แต่อยากให้สังคมตระหนักว่ามีข้อมูลบุคคลรั่วไหล และเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานกลับไม่แก้ไข
จะจริงเท็จอย่างไรตามคำให้การของผู้ต้องหา คาดหวังว่าตำรวจจะต้องสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดต่อไป
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหม ลงไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ ยืนยันการกระทำดังกล่าวเป็นการแสวงประโยชน์ส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของทางราชการ
แม้ต่อมาหน่วยงานต้นสังกัดสั่งพักราชการ และส่งผู้ต้องหาไปควบคุมในเรือนจำทหารแล้วก็ตาม แต่สังคมส่วนใหญ่ยังตั้งข้อสังเกตและสงสัยจะใช่แค่นายจ่าสิบโทเพียงคนเดียวหรือไม่
โดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างไรด้วยหรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานทหารมีภาระหน้าที่บทบาทเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
เช่นกันตำรวจต้องสอบสวนขยายผลต่อไป แท้จริงแล้วข้อมูลที่รั่วไหลออกไปนั้น 8 ล้านรายชื่อ หรือ 55 ล้านรายชื่อกันแน่ ถือเป็นวาระสำคัญ และเรื่องใหญ่สำหรับประชาชน