ประเทศไทยได้รับเกียรติและความน่าเชื่อถือจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นประเทศนำร่องทบทวน ถอดถอนบทเรียนด้านสาธารณสุข และการรับมือโรคโควิด
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ระบุประเทศไทยบริหารจัดการ และรับมือกับโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับ 5 จาก 195 ประเทศ
ทั้งยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด
องค์การอนามัยโลกจึงเชิญไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อเสนอแนะแก่ประเทศสมาชิกในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565
รัฐมนตรีสาธารณสุขอธิบายแจกแจงด้วยว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ความพร้อมในการจัดการเวชภัณฑ์ การบริหารสถานพยาบาล แลกเปลี่ยนข้อมูล และการช่วยเหลือ
รวมถึงการบริจาคต่างๆ ที่ทำให้ไทยผ่านวิกฤตมาได้ จนทำให้องค์การอนามัยโลกเชื่อมั่นประเทศไทยในการบริหารสถานการณ์โควิด ภายใต้ความเข้าใจ ความพร้อม และความตั้งใจ
ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดี เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และแวดวงสาธารณสุขของไทย ที่ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ และองค์กรระดับโลก
แม้โรคจะทุเลาเบาบางลง แต่ผลพวงจากการควบคุม และการบริหารงานของรัฐบาล ยังทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยไม่ค่อยฟื้นเท่าที่ควร ไม่ต่างจากอาการลองโควิด
ดังที่ทราบกันดีตั้งแต่มีโควิด จนใกล้เข้าสู่ปลายทางการระบาด นอกจากความสูญเสียทางร่างกายแล้ว ผู้คนจำนวนมากล้มละลายในการดำเนินชีวิต คนจนและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เด็กเยาวชนมีปัญหากับระบบการศึกษาออนไลน์ที่ล้มเหลว
ทั้งยังมีประชาชนไม่น้อยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเรียกร้องหาวัคซีนคุณภาพ บางคนถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เพราะวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาล
รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการ และเปิดประเทศที่ล่าช้า เพราะเสียเวลาไปกับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ซึ่งพิสูจน์แล้วรับมือกับโควิดได้ไม่ดีพอ สุดท้ายก็ต้องฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า สูญเสียทั้งโอกาสและงบประมาณภาษีประชาชน
จะมีเกียรติและสง่างามมากกว่านี้ รัฐบาลต้องตระหนักถึงความผิดพลาดบกพร่อง และทบทวนเรื่องเหล่านี้ด้วย