คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ตรวจสอบแอมเนสตี้?
ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งถูกกลุ่มชาตินิยมต่อต้านและขับไล่ออกจากประเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางกฎหมายดูอยู่ว่ามีความผิดอะไรหรือไม่
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง
เหมือนกับไม่รู้จักว่า แอมเนสตี้ฯ เริ่มดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2538 มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
มีการประสานงานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และเอ็นจีโอด้วยกันมาตลอด
รวมถึงออกแถลงการณ์เมื่อเกิดสถาน การณ์ที่น่าวิตกกังวลด้านสิทธิมนุษยชน มาทุกรัฐบาล
การแสดงความเห็น การแสดงความวิตกกังวล ขององค์กรแอมเนสตี้ ประเทศไทย พร้อมกับแนบข้อแนะนำและข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล เป็นเรื่องปกติและคุ้นเคยตลอดมา
คำแนะนำหรือข้อเรียกร้องนั้นอาจไม่ได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนเสมอไป แต่ถือเป็นกระจกสะท้อนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทางหนึ่ง
เป็นแง่มุมที่ยึดหลักอยู่ที่เรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ยึดว่าพรรคการเมืองได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล
ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรไปตรวจสอบหรือแสดงปฏิกิริยา จึงควรเป็นเรื่องข้อมูลและข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนที่แอมเนสตี้นำเสนอ
ไม่ใช่ตรวจสอบตัวองค์กรเพราะมีม็อบอยากขับไล่ออกจากประเทศ
การกล่าวอ้างเหตุผลว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบการเมืองการปกครองที่ต่างกัน มีสังคมและวัฒนธรรมต่างกัน จึงใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันวัดไม่ได้ เป็นการแสดงท่าทีที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามอ้างเหตุผลประชา ธิปไตยแบบไทยๆ แต่สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล ใช้เพื่อผดุงความเป็นมนุษย์ ความเจริญทางจิตใจ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน
จึงไม่มีสิทธิมนุษยชนรูปแบบไทยๆ อย่างแน่นอน
การใช้อาวุธและอำนาจทางการปกครองทำร้ายและลงโทษประชาชนผู้ที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจน
หน้าที่ของรัฐบาลต้องรับฟังเสียงจาก ผู้อื่นเพื่อทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ว่ากำลังปกป้องหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน