คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ดัชนีรับรู้การทุจริต
คณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐประหาร มักมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ล่าสุดองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transpa rency International หรือ TI) เผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 64 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์
ส่วนไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่อันดับ 110 ของโลก อันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน ต่ำกว่าสิงคโปร์ ที่ได้ 85 คะแนน มาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน และอินโดนีเซีย 38 คะแนน
จากดัชนีชี้วัดดังกล่าวพบว่าอันดับของไทยลดลง 6 อันดับจากปี 63 ที่อยู่อันดับ 104 ของโลก ซึ่งถือเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก
แหล่งข้อมูลคะแนนจาก CPI ปี 64 ที่ใช้ประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง คือ การทุจริตในภาครัฐฝ่ายบริหารนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวมมากน้อยเพียงใด
แต่ได้คะแนนลดลงใน 4 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่และมากน้อยเพียงใด ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองมากน้อยเพียงใด ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงไร และเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด
คะแนนที่ได้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของไทยในสายตานานาชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
สําหรับประเทศไทย หนึ่งในข้ออ้างของการทำรัฐประหารที่มีมาตลอดคือการเข้ามาปราบ ทุจริตคอร์รัปชั่น
แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 57 อันดับคะแนนของไทยมีทิศทางปรับลดลงมาตลอด ปี 60 ได้ 37 คะแนน ปี 61-63 ได้ 36 คะแนน ก่อนปรับลดเป็น 35 คะแนนในปี 64 สิ่งที่สังคมรับรู้ตรงกันก็คือ การที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหารของ คสช.ที่อ้างเข้ามาเพื่อปราบโกง แต่ผลงานกลับตรงกันข้าม
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลไม่ยินยอมให้เกิดการตรวจสอบอย่างโปร่งใส มีการแทรกแซงองค์กรตรวจสอบ ขัดขวางการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน การไล่ฟ้องร้องปิดปาก ฯลฯ เหล่านี้นำไปสู่ยุคทองของการทุจริตคอร์รัปชั่น สวนทางความโปร่งใสที่ลดลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ไปตลอด
ตราบใดที่ไทยยังไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยโดยแท้จริง