คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ชิงผู้ว่าฯ กทม.
กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับวันยิ่งมากขึ้น บรรดาว่าที่ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองและไม่สังกัด ต่างประกาศตัวลงพื้นที่หาเสียงแสดงความพร้อมแล้ว
รายล่าสุด นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศตัวชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อีกคน นำเสนอนโยบายและลงพื้นที่หาเสียงแล้ว
นับเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักวงกว้างในสังคม โดยเฉพาะบทบาทการทำหน้าที่ส.ส. ตรวจสอบรัฐบาล และอภิปรายในสภา ดังที่สาธารณชนรับทราบกัน
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่เฉพาะชาวกรุงเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วประเทศด้วย
ก่อนหน้านี้มีผู้ประกาศตัวและลงพื้นที่หาเสียงมาแรมปี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม เคยเป็น 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ส.ส.ที่ผ่านมา
เป็นบุคคลหนึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างการคมนาคมขั้นพื้นฐาน สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติลงในนามอิสระ
อีกบุคคลมีชื่อเสียง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายกสภาวิศวกร และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีผลงานด้านวิศวกร และสมัยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย
นายสุชัชวีร์ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล
นอกจาก 3 บุคคลข้างต้นแล้ว คงมีผู้ประกาศตัวตามมาอีกอย่างแน่นอน สะท้อนถึงกระแสตื่นตัวต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งถูกคณะรัฐประหารแช่แข็งมาเกือบ 6 ปี
โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองที่มีประชากรมากสุดของประเทศ สังคมเมืองสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข และบริหารจัดการ อีกทั้งงบประมาณมหาศาล ดังนั้น ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีความจำเป็น
แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่างโยนกันไปมา ทั้งที่สมควรแก่เวลาต้องกำหนดเวลา และประกาศวันเลือกตั้งได้แล้ว
ยิ่งเนิ่นนานต่อไป ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลเอง เพราะเกิดข้อสงสัยว่าที่ล่าช้าเนื่องจากพรรคแกนนำรัฐบาลยังหา ผู้สมัครไม่ได้ใช่หรือไม่