วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ เป็นวันสำคัญสำหรับชาวเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จะได้เข้าคูหาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา และชาวกรุงเทพมหานคร จะได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. และส.ก. เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นที่เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ เป็นสนามเลือกตั้งเขตปกครองพิเศษขนาดใหญ่ เป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางทางการเมือง การปกครองประเทศ
มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหลายคน ทั้งอิสระ และสังกัดพรรคการเมือง ดังที่รับทราบกันเป็นอย่างดีจากการหาเสียงที่ผ่านมา การดีเบตหลายเวที และโพลจากหลายหน่วยงาน บรรยากาศคึกคัก แข่งขันกันเข้มข้น
จึงคาดหวังจะมีผู้ออกมาเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ให้สมกับการรอคอย หลังอำนาจเผด็จการแช่แข็งมาเกือบ 10 ปี
นอกจากความรู้ ความสามารถ นโยบาย วิสัยทัศน์แล้ว เรื่องทัศนคติ จุดยืน หลักการ มุมมองต่อประชาชน และทางการเมือง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ว่าฯ และทีมงานบริหารกทม.
ดังที่ประจักษ์แจ้งนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เกิดการชุมนุมหลายครั้งในกทม. เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่นอกเหนือจากระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตย
ในห้วงเวลาดังกล่าว มีข้อสังเกต ข้อครหาข้อกล่าวหาถึงการวางตัวของผู้ว่าฯ และผู้บริหารกทม. เพื่ออำนวยความสะดวก สนับสนุน ร่วมเปิดทางสร้างเงื่อนไขที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยหรือไม่
ดังนั้น ผู้ว่าฯ และส.ก. ต้องมีจุดยืนยึดมั่นอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจเผด็จการด้วย
สำหรับชาวกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งมีอยู่กว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมถึงผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เพิ่งได้รับสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วย หรือนิวโหวตเตอร์ อีกเกือบ 1 ล้านคน
นอกจากพิจารณาความรู้ ความสามารถ นโยบาย และวิสัยทัศน์แล้ว เรื่องจุดยืนทางการเมือง หลักการประชาธิปไตย ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพินิจพิเคราะห์ให้รอบด้านควบคู่กันไปด้วย
ต้องตรวจทานประวัติและเบื้องหลังแต่ละคนให้ถี่ถ้วน เป็นลูกหลานทายาท เครือข่าย ปูมความเป็นมาเชื่อมโยงกับการทำลายประชาธิปไตยหรือไม่
คนกทม.ต้องสรุปบทเรียนว่า ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ถ้ามีจุดยืนหนักแน่น ย่อมสามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และไม่เป็นเครื่องมือให้อำนาจอื่นใดในการทำลายประชาธิปไตยด้วย