คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
จับกระแสยุบสภา
สถานการณ์การเมืองมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง
สืบเนื่องจากพรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรและสงขลาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 เขต แล้วแกนนำพรรคบางคนกล่าวโทษว่า สาเหตุมาจากการปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เรื่องรวย-จน
ตามมาด้วยกรณีไลน์หลุดของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กรรมการบริหารพรรคที่เสนอให้ทำโพลสอบถามประชาชนถึงสาเหตุพรรคพลังประชารัฐตกต่ำ เป็นเพราะร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค และไม่มีคนยอมรับหรือไม่
ทั้งสองประเด็นทำให้สถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐร้อนระอุ นำมาสู่เกมแตกหักเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารและส.ส.พรรคพลังประชารัฐวันนั้น มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคนั่งเป็นประธาน ร.อ.ธรรมนัสยื่นคำขาดจะนำส.ส.ในกลุ่ม 20 คน ลาออก กดดันให้เกิดการยุบสภา
แต่ได้มีการเจรจากัน กระทั่งในที่สุดพรรคยอมอ่อนข้อด้วยการลงมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และส.ส.ทั้ง 20 คนในกลุ่มออกจากพรรค เปิดทางให้หาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วันเพื่อรักษาสถานภาพส.ส.เอาไว้
โดยมีข่าวทั้งหมดอาจย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ นั่งเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งหมดเป็นหมากการเมืองถูกวางไว้แต่แรกหรือไม่
กรณี ร.อ.ธรรมนัส กับ 20 ส.ส. ส่งผลให้เสียงในสภาของรัฐบาลกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปริ่มน้ำอีกครั้ง
เนื่องจากขณะนี้ส.ส.ในสภามี 475 คน แบ่งเป็นรัฐบาล 275 คน ฝ่ายค้าน 200 คน เสียงกึ่งหนึ่งคือ 238 เสียง เมื่อพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส กับ 20 ส.ส.พ้นพรรค ทำให้เสียงรัฐบาลลดเหลือ 254 เสียง เกินกึ่งหนึ่งเพียง 16 เสียง
น่าห่วงคือใน 254 เสียงเมื่อหักเสียงประธานและรองประธานสภา 3 เสียงก็จะเกินกึ่งหนึ่งแค่ 13 เสียง และยิ่งอันตรายกว่านั้นหาก 9 ส.ส.พรรคเล็กหันไปร่วมลงเรือลำเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัสตามที่เป็นข่าว เสียงรัฐบาลก็จะเกินกึ่งหนึ่งแค่ 4 เสียง
กระแสข่าวยุบสภาที่เริ่มกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง ถือได้ว่าเป็นทางออกในระบอบประชาธิปไตยปกติ ยังดีกว่าไปเลือกทางออกอื่นที่เลวร้าย