บทบรรณาธิการ : คำถามที่ไทยต้องตอบ

Home » บทบรรณาธิการ : คำถามที่ไทยต้องตอบ



คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คำถามที่ไทยต้องตอบ

ไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่คณะทำงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UPR จะตั้งคำถามให้ตอบ วันที่ 10 พ.ย. ที่สํานักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระบวนการดังกล่าวจะเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากครั้งที่ 1 เดือนต.ค. 2554 และครั้งที่ 2 เดือนพ.ค. 2559

คณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ ต้องตอบคำถามของนานาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือข้อกฎหมายที่เกิดปัญหา

เป็นคำถามจากประเทศเบลเยียมว่า ไทยจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ คำถามว่าไทยจะมีมาตรการใดเพื่อรับประกันว่าเยาวชนจะใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก

หลังจากช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้เยาวชนหลายคนถูกจำกัดสิทธิด้วยกฎหมายหลายชั้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ไว้ใช้ควบคุมโรคโควิด-19 ไว้ควบคุมความสะอาด ไปจนถึงกฎหมายที่มีบทลงโทษร้ายแรง บางคนต้องถูกคุมขังราวกับเป็นอาชญากร

อีกหลายคนถูกบีบให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์รุนแรงจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และยังมีเยาวชนที่เสียชีวิตในเขตที่มีการปะทะรุนแรง

ความเคลื่อนไหวของเยาวชนถูกรัฐตีตราเหมารวมว่า มีส่วนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศและอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว

อีกคำถามที่ค้างคามายาวนานและเป็นประเด็นใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน คือปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ไทยจะถูกถามว่าพิจารณาเรื่องกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และการพิจารณาให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ไปถึงไหนแล้ว

เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเมืองและสถานการณ์ในเขตชายแดนใต้ของไทย

เรื่องยากๆ ทั้งหมดนี้ยังไม่พ้นไปจากสายตาของนานาประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ