บทบรรณาธิการ – ความเครียดคนอีสาน

Home » บทบรรณาธิการ – ความเครียดคนอีสาน


บทบรรณาธิการ – ความเครียดคนอีสาน

อีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดผลสำรวจล่าสุด “ความเครียดของคนอีสานกับปัญหาเศรษฐกิจ” จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 1,065 ราย ในพื้นที่ทั้ง 20 จังหวัด

พบว่ามี 3 ปัญหาที่เผชิญอยู่และเครียดมากที่สุด คือ ค่าครองชีพสูง ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานพุ่ง และรายได้ไม่พอกับรายจ่ายจนต้องมีหนี้สินเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ที่ทำให้เครียด ทั้งตกงานและหางานใหม่ทำยาก อันเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 และอื่นๆ เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย

ปัญหาความเป็นอยู่ลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับคนภาคอีสานเท่านั้น ประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศก็น่าจะเครียดกับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เช่นกัน

 

เมื่อสำรวจลึกลงไป ยังพบด้วยว่าภาระรายจ่ายด้านการศึกษา หนี้การศึกษา การผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงิน หนี้นอกระบบ และอื่นๆ ยิ่งทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตอย่างหนักเช่นกัน

การขาดทุนจากการทำเกษตรกรรม การขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน หรือสินเชื่อการทำมาหากินผู้สูงอายุมีเงินไม่พอใช้ หรือภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียด

น่าสังเกตว่าแม้รัฐจะทุ่มเทงบประมาณมหาศาลไปในโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ทั้งเบี้ยคนชราบัตรคนจน ตลอดจนความช่วยเหลืออื่นๆ แต่ก็ไม่เพียงต่อการดำรงชีวิตขณะนี้

เพราะโครงการดังกล่าวว่ากันว่าประดุจยาดมยาหม่อง ไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืน แข็งแรง ที่ทำให้ประชาชนยืนอยู่ด้วยขาของตัวเองได้อย่างแท้จริง

 

หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้เพื่อสะท้อนปัญหาของคนอีสานให้ภาครัฐ หรือพรรคการเมือง หาแนวทางแก้ไขบรรเทาปัญหาให้คนภาคอีสาน

สำหรับความเครียดกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงินนั้น พบว่าค่าครองชีพสูง/ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ทำให้เครียดมากที่สุด คือร้อยละ 62.4

รองลงมาร้อยละ 56.9 เครียดจากปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นมาก และอันดับ 3 ร้อยละ 42.5 เครียดมากจากรายได้ไม่พอกับรายจ่ายจนต้องมีหนี้เพิ่ม

ดังนั้น พรรคการเมืองใด รู้ซึ้งถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน และสามารถจัดทำนโยบาย มีวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบก็น่าจะได้การตอบรับอย่างถล่มทลาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ