คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ความผิดหวัง
ผลการลงมติของรัฐสภาที่เสียงส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในวาระที่ 1 เป็นความผิดหวังของประชาชนผู้ร่วมลงชื่อที่คาดการณ์ได้
ส่วนคณะผู้ร่างดูเหมือนคาดการณ์ได้เช่นกันว่ากรณีแบบนี้ย่อมไม่มีปาฏิหาริย์ หรือการ พลิกล็อก
ด้วยองค์ประกอบของรัฐสภา ที่มาของส.ว. ความหวาดระแวงและความรู้สึกไม่มั่นคงของส.ส.พรรครัฐบาล ทำให้ประชาชนทั่วไปรวมถึง ผู้ติดตามการอภิปรายรู้ผลก่อนการลงมติได้ โดยไม่ยาก
สิ่งที่ได้รับในกระบวนการทางรัฐสภาครั้งนี้อย่างน้อยคือได้เวทีสำหรับการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
กระบวนการนี้ไม่มีมากนักในช่วงจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560
เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็น เรื่องที่ประชาชนรับทราบทั่วไปว่าแก้ไข ได้ยากมาก โดยเฉพาะการพึ่งพาเสียงจากส.ว.
แต่ช่วงเวลาของการประชามติ คนจำนวนมากให้การรับรองรัฐธรรมนูญด้วยความหวัง ให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วเช่นกัน
ไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ประชามติ 16 ล้านเสียงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ได้เปลี่ยนแปลง ไปอย่างไรในช่วงเวลานี้
แต่ที่ชัดเจนคือ เกือบทุกพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
หลังการเลือกตั้ง 2562 แล้ว เสียง เรียกร้องของกลุ่มเยาวชนในเรื่องนี้ ดังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
แต่การอภิปรายของส.ว.เพื่อคัดค้านและ ต่อต้านการแก้ไขก็ชัดเจนเช่นกัน แม้หลายคนออกตัวว่าไม่ได้หวงอำนาจหรือตำแหน่ง
หากการแสดงความคิดและท่าทียังคงยึด ติดอยู่กับผลผูกพันและสืบทอดจากช่วงรัฐประหาร โดยเฉพาะข้อกล่าวหาต่อเยาวชน ว่าถูกล้างสมอง ยุยง ปลุกปั่น
หลังจากนี้ไปจึงเชื่อว่าจะยังเป็นช่วงการดิ้นรนในการต่อสู้ทางความคิดอย่างเข้มข้น
เพราะการต่อสู้ทางประชาธิปไตยทั้ง ของไทยและตัวอย่างอีกหลายประเทศ ไม่เคยอาศัยปาฏิหาริย์ใดๆ มีแต่ความมุ่งมั่น อดทน และหนักแน่นในจุดยืน แม้จะ เผชิญความผิดหวังหลายๆ ครั้งก็ตาม