การประชุมเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สิ้นสุดลงแล้วด้วยความราบรื่น เรียบร้อย สร้างความโล่งใจให้ผู้นำรัฐบาลอย่างมาก
แต่ปฏิบัติการสลายกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนมวลชนไปยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้นำเอเปค โดยใช้ความรุนแรง จนมีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมจำนวนมาก ก็เป็นรอยเปื้อนดำด้วยเช่นกัน
รัฐบาลพยายามชูซอฟต์เพาเวอร์ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งอาหาร ศิลปะการประดิดประดอยตกแต่งอาหาร ตลอดจนวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ก็เป็นการเสนอชั่วคราวเท่านั้น
หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในสิ่งที่วาดหวังไว้เพียงไร หรือเพียงแค่การจัดพบปะสนทนากันระหว่างผู้นำในภูมิภาคเท่านั้น
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า
ขาด “คำประกาศกรุงเทพฯ” เพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่มี “ความริเริ่มทางการเมือง” ในเวทีสากล ต่างจากบทบาทการประชุม 2 ครั้งก่อน ที่มีข้อเสนอชัดเจน ทำให้ไทยเป็นจุดสนใจ
เอเปคครั้งนี้ เกิดในภาวะที่รัฐบาลไร้เสน่ห์ เทียบปี 2535 มีจุดเด่นการเป็นตัวแทน “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” ขณะที่ครั้งที่ 2 ปี 2546 ประเทศไทยกำลังเติบโตด้านต่างๆ และเป็นที่จับตามองในภูมิภาค
แต่ครั้งนี้ ผู้นำปัจจุบัน “ไม่มีบทบาท-ไม่มีจุดขาย-ไม่มีวิสัยทัศน์” ที่จะเป็น “เสน่ห์” ชักชวนน่าสนใจ ทั้งยังมีภูมิหลังมาจากรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในกระแสโลกด้วย
นอกจากนี้ ผู้นำรัฐบาลไทยยังมีความพินอบพิเทาอย่างเห็นได้ชัดต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจและแขกพิเศษบางชาติอย่างออกหน้าออกตา จนทำให้ขาดความสง่างาม
การเมืองระหว่างประเทศนั้น อาศัยการมีอำนาจนำในชาติอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีศาสตร์และศิลป์อย่างพอเหมาะพอควร เพื่อรักษาจุดยืนและสถานะของประเทศด้วย
การจัดประชุมเอเปคครั้งนี้ มีประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกด้วย ซึ่งต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และเกิดการตกผลึกอย่างแท้จริง
ดังนั้นจึงต้องเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนข้อสงสัยว่าเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนใหญ่ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเกษตรกรเท่าที่ควรอย่างไรบ้าง