‘คนละครึ่ง’โดนจริงหรือ – สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงการใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง หลังสิ้นสุดโครงการประชานิยมของรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ระบุโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 9.22 ล้านราย
ข้อมูลล่าสุดของโครงการนี้ มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.34 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 221,109.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 112,482.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 108,627.3 ล้านบาท
ยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 87,714.8 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 35,519 ล้านบาท ร้านโอท็อป 10,665.6 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 83,093.7 ล้านบาท ร้านบริการ 3,851.8 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 264.9 ล้านบาท
ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้า
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ รัฐบาลประกาศอย่างภาคภูมิใจเสมอว่าเป็นผลงานระดับสุดยอด และนายกรัฐมนตรีออกปากชื่นชมหลายครั้ง อ้างประสบความสำเร็จตั้งแต่ระยะแรก ระยะที่สอง และระยะที่ 3
มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างเห็นผล แต่ทั้งสามระยะของโครงการนี้ ใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนถึง 187,250 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมหาศาล
ไม่รวมโครงการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
ทั้งหมดนี้ ถ้ามองทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าขาดความยั่งยืน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
เมื่อรัฐบาลมองว่าโครงการคนละครึ่งนี้ คือผลงานระดับชิ้นโบแดง สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน ถูกจริตประชาชนขานรับ และสร้างคะแนนนิยมให้รัฐบาลด้วย
ดังนั้น โครงการระยะที่ 4 จึงตามมาอีก โดยวางแผนจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2565 รวมเป็นระยะเวลา 2 เดือน คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ส่วนหนึ่งใช้งบประมาณที่เหลือจากเฟส 3 ราว 10,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลดีผลเสียอย่างหลากหลายและกว้างขวาง ตอบสนองประชาชนได้เพียงบางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่เข้าไม่ถึงโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ยังมีเงินเหลือในระบบและใช้ไม่หมดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนไม่มีเงินสดที่จะเติมนั่นเอง