คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวใหม่
อ้างรองรับกลุ่มที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่ ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง, ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ, ผู้ทำงานในไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
เดิมกำหนดระยะเวลาลงทุนของต่างชาติไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ฉบับใหม่ลดเหลือ 3 ปี ส่วนจำนวนเงินลงทุนยังคงไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทเช่นเดิม และต่อเนื่อง 3 ปี
โดยกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น และกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านในขณะนี้
พร้อมกันนี้ก็ปรับปรุงเพิ่มประเภทการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลไทย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสและสร้างแรงจูงใจต่างด้าวในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่มีศักยภาพนำเงินตรามาใช้ในประเทศไทยในมิติต่างๆ มากขึ้น
โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนและแข็งแกร่งมากขึ้น
เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นได้ แม้จะระดมเงินจากการกู้ยืมมาใช้ในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
บางฝ่ายมองว่ามาตรการดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจที่แท้จริง สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย แต่เปิดโอกาสให้นักลงทุนในตลาดการเงินเข้ามาหาประโยชน์ระยะสั้นและถอนทุนออกไปได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องคือการยอมให้ต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์สิทธิในผืนแผ่นดินไทยโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
ที่สำคัญอาจเปิดช่องให้ทุนจากธุรกิจสีเทา เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ รวมถึงค้ามนุษย์เข้ามาแอบแฝงเพื่อซื้อที่ดินในประเทศนี้ได้
ดังนั้น ก่อนที่จะประกาศใช้จริง สมควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและรอบด้านจากทุกฝ่าย โดยตระหนักและคำนึงถึงผลได้ผลเสียในระยะยาว