การประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ตกเป็นข่าวใหญ่ สังคมสนใจ หลังพรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ รวมทั้งเตรียมนำไปเป็นหัวข้อหนึ่งในการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลังสภาเปิดสมัยประชุม 22 พฤษภาคมนี้
จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงการคลัง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วในทุกขั้นตอน ขณะที่กรมธนารักษ์ได้เลื่อนลงนามในสัญญากับบริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูล วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ออกไปก่อน
เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการประมูลทั้งหมดอีกครั้งว่าโปร่งใสหรือไม่อย่างไร
ขณะเดียวกันกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับข้อเรียนเรื่องดังกล่าวจากส.ส.ฝ่ายค้าน
ได้ทำหนังสือเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาโครงการ อาทิ กรมธนารักษ์ เลขาธิการอีอีซี กรรมการผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการประกวดราคา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น มาให้ข้อมูล
อีกทางหนึ่งได้มีผู้ไปยื่นข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อสอบสวนเอาผิดข้าราชการระดับสูงบางคน คณะกรรมการที่ราชพัสดุ และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมการประมูล หลังจากเคยยื่นเรื่องร้องเรียนไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่ไม่เป็นผล
ยังคงมีการเดินหน้าเปิดประมูล กระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องกันในศาลปกครองปัจจุบัน
โครงการท่อส่งน้ำอีอีซี อยู่ในความรับผิดชอบของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กำกับกรมธนารักษ์ ซึ่งยืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย
แต่ฝ่ายค้านมองว่า นอกจากรมช.คลัง นายกรัฐมนตรีกับรมว.คลังก็อยู่ในข่ายที่อาจต้องร่วมรับผิดชอบด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตหากเรื่องนี้ไม่มีความผิดปกติ คงไม่เลื่อนลงนามสัญญา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า คณะกรรมการตรวจสอบที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น ให้รองปลัดกระทรวงเป็นประธาน จะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างอิสระตรงไปตรงมา ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำจากอิทธิพลทางการเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไป หรือไม่
นอกจากฝ่ายค้าน ประชาชนเจ้าของประเทศต้องช่วยกันจับตาเรื่องนี้เช่นกัน