บทบรรณาธิการ-กฎหมายเลือกตั้ง

Home » บทบรรณาธิการ-กฎหมายเลือกตั้ง



ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระบวนการหลังจากนี้นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ห่างกัน 1 สัปดาห์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและแถลงคำวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามที่สมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อต่อประธานรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังทราบข่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผ่านร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไม่ได้แสดงความรู้สึกแปลกใจ

แต่กลับยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลต่อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มากกว่า

ก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เกิดเหตุพลิกผันหลายครั้งระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ในประเด็นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เริ่มจากสูตรหาร 100 พลิกเป็นหาร 500 ก่อนเกิดเหตุสภาล่ม ในวันสุดท้าย ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกรอบ 180 วัน

ผลคือทำให้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 สูตรหาร 500 ต้องพลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 อีกครั้ง ตามร่างฉบับที่ครม.เสนอต่อที่ประชุมวาระแรก ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1)

ต่อมาสมาชิกส.ส.และส.ว. 105 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง สูตรหาร 100 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

การเสนอร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง

จากบัตรใบเดียวเป็น 2 ใบ สำหรับเลือกส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ เปลี่ยนสัดส่วนส.ส.เขตต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 ต่อ 150 มาเป็น 400 ต่อ 100 ซึ่งเป็นระบบที่จะใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผ่านเช่นเดียวกับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องดี ทุกอย่างจะได้ราบรื่นไม่ติดขัด แต่หากไม่ผ่าน ก็หวังได้รับคำชี้แนะว่าจะต้องปรับแก้ในประเด็นใด อย่างไร ให้ทันท่วงทีต่อการเลือกตั้งซึ่งใกล้เข้ามา

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศการเลือกตั้ง ป้องกันไม่ให้ฝ่ายอำนาจฉวยโอกาสออกกฎกติกาเร่งด่วน สร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองฝ่ายตนไม่ว่าพรรคเก่า หรือพรรคตั้งใหม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ