การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของวาระสภาชุดนี้ มีร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาและลงมติในวาระ 2 และ 3 อย่างน้อย 2 ร่าง
ร่างแรก ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ร่างที่สอง ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือเป็นที่รู้กันในนามร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกลเสนอ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้วเช่นกัน
ทั้งสองฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือปลดล็อกพืชที่มีสารเสพติดให้เป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อใช้ในทางการแพทย์ กับเปิดให้ผู้ผลิตรายเล็กขออนุญาตผลิต ขายสุรา และเสียภาษีถูกต้องได้
ก่อนที่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับจะเข้าสู่การพิจารณา มีความเคลื่อนไหวอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นการปลดล็อกกัญชา ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ แพทย์ และสหวิชาชีพต่างมีความไปทางวิตกกังวลและเป็นห่วง
อีกทั้งช่วงที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และเป็นสุญญากาศนั้น มีหลายกรณีที่พบเห็นว่าใช้กัญชาไปในทางสันทนาการ จนหลายองค์กรแพทย์ต้องออกแถลงการณ์เรียกร้อง
นอกจากนี้ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล วัด สถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงสถานที่หลายแห่งต่างออกประกาศเป็นเขตปลอดกัญชา รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา
ทางออกในขณะนี้ ก็คือการควบคุมเพื่อให้กัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยแท้จริง ปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงได้ง่ายของกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเฉพาะ เด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา
สำหรับร่างพ.ร.บ.ก้าวหน้านั้น เห็นชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีลงมาบัญชาการเอง โดยเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ส่งสัญญาณไม่อยากให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา
มีการอ้างว่าถ้าเปิดเสรีสุราจริง ก็จะควบคุมลำบาก จะมีการผลิตขึ้นและดื่มกันเองจนมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย อีกทั้งเกรงว่าสุราพื้นบ้านจะไม่มีความปลอดภัยต่อการบริโภคเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเพิ่มรายได้ทางภาษีให้รัฐ
ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการดื่มมากหรือดื่มน้อย เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายนี้หรือไม่ คนก็บริโภคจากผู้ประกอบการรายใหญ่หรือที่นำเข้าอยู่แล้ว ควรไปเพิ่มมาตรการการควบคุมน่าจะดีกว่า