“น้ำแช่เห็ดหอม” ห้ามนำมาปรุงอาหาร จริงหรือไม่

Home » “น้ำแช่เห็ดหอม” ห้ามนำมาปรุงอาหาร จริงหรือไม่
“น้ำแช่เห็ดหอม” ห้ามนำมาปรุงอาหาร จริงหรือไม่

ใครเคยได้ยินเรื่อง น้ำแช่เห็ดหอม ห้ามนำมาปรุงอาหาร เพราะอาจมีสารตกค้างที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเอาไว้ในรายการ “ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว” EP. 65 ตอน “สกว. เตือนห้ามนำน้ำแช่เห็ดหอมไปปรุงอาหาร จริงหรือ?” ว่า จากข้อมูลที่แชร์กันว่า ในน้ำแช่เห็ดหอม “พบปนเปื้อนสารคาร์บอนไดซัลไฟด์ ที่ใช้ล้างสนิม สัมผัสผิวหนังทำให้ระคายเคืองอย่างรุนแรง หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว สะสมในร่างกายนานๆ ส่งผลประสาทเสื่อม อาการคล้ายคนโรคจิต” นั้น ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะไม่ได้มีหลักฐานยืนยันว่ามีการปนเปื้อนของสาร คาร์บอนไดซัลไฟด์ ในเห็ดหอมแห้ง นอกจากนี้ จากการค้นหาข่าวเรื่องสารเคมีตกค้างปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้งที่ขายในประเทศไทยเรา พบข่าวที่นิตยสารฉลาดซื้อ เคยตรวจหาสารกันเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ตกค้างในเห็ดหอมแห้ง โดยตรวจไป 13 ตัวอย่าง พบ 1 ตัวอย่างที่มีค่าเกินมาตรฐานกำหนด (คือ ห้ามเกิน 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และการหาสารหนูปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้ง จำนวน 5 ตัวอย่าง พบปริมาณปนเปื้อนน้อยมาก ไม่เกินค่ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า สารคาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide) เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ จริง และมีอันตรายได้ถ้ารับเข้าไปมาก ซึ่งในภาคการเกษตรนั้น เคยมีการใช้เพื่อรมเมล็ดธัญพืช-กำจัดแมลง แต่เชื่อว่าเลิกใช้กันไปแล้ว

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันว่ามีการปนเปื้อนของสารคาร์บอนไดซัลไฟด์ ในเห็ดหอมแห้ง แต่ รศ.ดร.เจษฎา กล่าวสรุปว่า ถ้าใครกังวลเรื่องสารเคมีอื่นๆ ที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ สามารถแช่เห็ดในน้ำ และเททิ้งไปตามที่แนะนำกันมาก็ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ