กรมชลประทาน ประกาศแจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากฝนตกชุกทางตอนบน ส่งผลให้น้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้น
วันที่ 26 ก.ค.2565 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำป่าสัก กรมชลประทาน
คาดการณ์ว่าใน 1-3วันข้างหน้าในช่วงวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2565 แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,200–1,300 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะเเกกรัง ที่สถานี Ct.19 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที รวมกับปริมาณน้ำท่าจากลำน้ำสาขาอื่นๆ อีกประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,450 – 1,550 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ในอัตราระหว่าง 1,000–1,250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50 เมตร ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จะแจ้งให้ทราบต่อไป
กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมแจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด