ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ต่างทยอยเดินทางเข้าเที่ยวชมอาคาร พาสาน ซึ่งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกและดูระดับน้ำ หลังจากที่อาคารดังกล่าวมีระดับน้ำจากแม่น้ำปิงจากจังหวัดกำแพงเพชร และแม่น้ำน่าจากจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตรไหลเอ่อล้นลอดใต้อาคาร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ตั้งแต่ก่อสร้างมาหลายปีเพิ่งมีระดับน้ำสูงมากขนาดนี้ โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวชมต่างจะมาดูระดับน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยาและมาเซลฟี่ถ่ายภาพลงเสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็ได้พาบุตรหลานเข้ามาท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับ พาสาน สัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบและก่อสร้างขึ้นให้สามารถคงอยู่ในสภาพภูมิประเทศ ที่จะมีน้ำขึ้นสูงในช่วงฤดูน้ำหลากไว้ตั้งแต่ต้น ลักษณะของอาคารที่ยกโค้งพ้นน้ำ ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือลอดส่วนโค้ง ชมความงามของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้
“พาสาน” มีที่มาจากคำว่า “ผสาน” คือ การรวมกัน แต่ “พาสาน” คือ การพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่าง คน สถานที่ และสภาพแวดล้อม ตัวอาคารสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ออกแบบให้มีความโค้งแล้วมาบรรจบกันที่ปลาย เหมือนการรวมตัวกันของแม่น้ำหลักจาก 4 สาย มาประสานกันเป็นสองสายและรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในช่วงฤดูน้ำหลากส่วนของอาคารที่ยกโค้งจะโผล่พ้นน้ำ นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือลอดอาคารชมความงามของสถาปัตยกรรมได้
นอกจาก พาสาน จะเป็นจุดชมวิวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีสำนักงาน ห้องจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยว ลานประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม รวมไปถึงกิจกรรมแสง สี เสียงแสดงถึงวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกด้วย
นักท่องเที่ยว สามารถนั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งพาสาน เพื่อชมพระอาทิตย์ตก สัมผัสความงดงามของต้นน้ำเจ้าพระยา วิถีชีวิตของคนริมนํ้าแห่งปากนํ้าโพ นครสวรรค์ ในขณะที่นายกจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบห้องนิทรรศการใต้ดิน และตรวจสอบระบบสูบน้ำป้องกันน้ำท่วมห้องนิทรรศการใต้ดินภายในพาสาน ซึ่งยังใช้งานได้ดีและไม่มีน้ำท่วมขัง.