วันนี้ (27 มี.ค. 2567) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสมรสเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
- สรุปครบจบที่เดียว! เปิดกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ทั้ง 4 ฉบับ เหมือนและต่างกันอย่างไร
หลังจากประธานในที่ประชุมได้เรียกให้สมาชิกลงมติ ในวาระ 3 ซึ่งปรากฏว่า เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง
สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น มีดังต่อไปนี้
- กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง
- ให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี
- สถานะทางกฎหมายคือ “คู่สมรส” คือมีสิทธิ และหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย เช่น สิทธิสวัสดิการราชการ, หักลดหย่อนภาษี เป็นต้น
- สามารถขอรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้
การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย (ถัดจากไต้หวันและเนปาล) และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีร่างกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สภาต้องส่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้วัฒิสภาพิจารณา และหากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเหล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไป