ประเด็นเรื่อง “การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ” ของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย และไม่ต้องไปกู้ยืมเงินให้กลายเป็นหนี้สิน กลายเป็นที่ฮือฮาและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นวงกว้าง ศูนย์สำรวจความคิดเห็น (นิด้าโพล) แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงทำการสำรวจเรื่อง “เงินเดือนข้าราชการ” ซึ่งได้ผลการสำรวจที่น่าสนใจ Sanook ขอสรุปผลการสำรวจในประเด็นที่หลายคนยังให้ความสนใจมาฝากกัน!
- ว้าวุ่นเลย รัฐบาลแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด ลั่นอยากได้เพิ่ม ไม่ใช่ได้ทีละครึ่ง!
- เศรษฐา ประกาศเปลี่ยน จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ เริ่ม ม.ค. 67
ข้าราชการเงินเดือนไม่พอใช้
นิด้าโพลทำการสำรวจประชาชนเรื่อง “เงินเดือนข้าราชการ” ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2566 จากกลุ่มข้าราชการ/ พนักงาน/ ลูกจ้างของรัฐ รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 ตัวอย่าง โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
ผลการสำรวจที่นิด้าโพลค้นพบ ชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.81 ได้เงินเดือน (ที่ไม่รวมรายได้พิเศษอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย) ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและไม่มีเงินเก็บ รองลงมาร้อยละ 28.31 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บ ขณะที่ ร้อยละ 26.87 ระบุว่า เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ไม่มีเงินเก็บ
หนี้สินข้าราชการ
ด้านการมีหนี้สินจากการกู้ยืม นิด้าโพลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.35 มีหนี้สินกับสถาบันทางการเงิน รองลงมาร้อยละ 43.36 ระบุว่ามีหนี้สินกับสหกรณ์ ร้อยละ 25.57 ระบุว่าไม่มีหนี้สินใดๆ ขณะที่ร้อยละ 3.66 ระบุว่ามีหนี้สินนอกระบบ (รวมถึงการกู้ยืมเงินจากเพื่อนและญาติพี่น้อง)
ค้านจ่ายเงินเดือน 2 รอบ
สำหรับความคิดเห็นต่อแนวคิดของรัฐบาลเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ผลสำรวจของนิด้าโพล ระบุว่า
- ร้อยละ 71.30 ไม่เห็นด้วยเลย
- ร้อยละ 11.93 ไม่ค่อยเห็นด้วย
- ร้อยละ 8.32 เห็นด้วยมาก
- ร้อยละ 7.71 ค่อนข้างเห็นด้วย
- ร้อยละ 0.84 ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 57.86 ระบุว่าเห็นด้วยมาก รองลงมาร้อยละ 20.38 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย และร้อยละ 13.36 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย