นิคมสหกรณ์ห้างฉัตร ลำปาง พลิกฟื้นผืนดินรกร้าง สู่แปลงผักปลอดสาร แหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชน

Home » นิคมสหกรณ์ห้างฉัตร ลำปาง พลิกฟื้นผืนดินรกร้าง สู่แปลงผักปลอดสาร แหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชน
นิคมสหกรณ์ห้างฉัตร ลำปาง พลิกฟื้นผืนดินรกร้าง สู่แปลงผักปลอดสาร แหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชน

จากอดีตผืนดินรกร้างว่างเปล่า วันนี้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัย ให้คนในชุมชนได้มีผักปลอดสารพิษไว้บริโภคกันทั่วหน้า ที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้มีจุดเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เมื่อมีการประกาศจัดตั้งนิคมสหกรณ์ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ขึ้น

นายณรงค์ฤทธิ์ กุลกฤตยารัตน์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ห้างฉัตร ให้ข้อมูลว่า นิคมสหกรณ์ห้างฉัตร มีเนื้อที่ประมาณ 48,000 ไร่ อยู่ในท้องที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอเกาะคา โดยมีการจัดสรรพื้นที่ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์นำไปประกอบอาชีพการเกษตร จากนั้นเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินในเขตนิคมสหกรณ์ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการประกอบอาชีพการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง
726298_0นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการประกอบอาชีพทางการเกษตรต่าง ๆ ที่หลากหลายตามความถนัด หนึ่งในนั้นคือการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น “กลุ่มปลูกผักปลอดสารเคมีอินทรีย์เวียงตาล” สังกัดสหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด บนพื้นที่ 70 ไร่ สมาชิกกลุ่มราว 40 คน รวมตัวกันปลูกผักชนิดต่าง ๆ แบบไร้สารเคมี 100% เพื่อรักษาสภาพดินไม่ให้เสื่อมโทรม โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานของกลุ่ม การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การจัดอบรมเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชผักให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ส่งเสริมเรื่องการใช้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติ เช่น มูลวัว มูลไก่ และเศษพืชผัก โดยได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกสามารถผลิตพืชผักอินทรีย์ได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานการรับรองต่าง ๆ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของกลุ่มอีกด้วย

นายสอน กลิ่นพิมาย ประธานกลุ่มปลูกผักปลอดสารเคมีอินทรีย์เวียงตาล กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ขอรับการจัดสรรพื้นที่จากนิคมสหกรณ์ห้างฉัตร ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรมานี้ แต่เดิมเรียกว่า “หนองหมู” เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีน้ำตลอดทั้งปี ทางกลุ่มได้ร่วมกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จนเหมาะสมแก่การทำการเกษตรและกลายเป็นพื้นที่ผลิตพืชผักปลอดภัยให้คนในชุมชน ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 43 ราย เพาะปลูกพืชผักหมุนเวียนหลากหลายชนิดตลอดทั้งปี เช่น ผักเชียงดา ผักพื้นบ้านทางภาคเหนือที่มีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการมากมาย รวมไปถึงผักสวนครัวทั่วไป อย่าง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ชะอม และพืชผักตามฤดูกาล
726299_0“ทางกลุ่มของเรามีข้อตกลงกันว่าห้ามใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด ปุ๋ยยูเรียสักเม็ดนึงก็ห้ามใช้ ในแหล่งผลิตของเราได้รับมาตรฐาน Organic Thailand คือมาตรฐานสูงสุดในประเทศไทย ซึ่งในกลุ่มเราและตัวของผมภูมิใจมากครับ” ลุงสอนกล่าวย้ำ ถึงความเข้มงวดในการผลิตของกลุ่ม จนทำให้ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การันตีความปลอดภัยที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ จนสามารถส่งผลผลิตขายให้โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง นำไปประกอบอาหารให้ผู้ป่วย รวมถึงจำหน่ายในตลาดนัดโรงพยาบาล ตลาดในชุมชนและใกล้เคียงด้วย

ลุงสอนยังกล่าวทิ้งท้ายถึงความสุขจากการปลูกผักปลอดภัยว่าไม่เพียงแต่ทำให้ครอบครัว ลูกหลานและคนในชุมชนได้มีผักสด สะอาด ปลอดภัยไว้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้สูงอายุมีรายได้อย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับอายุที่ยืนยาว จากการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีอีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ