นายกฯ สั่งชะลอการจองฉีดวัคซีนโควิดผ่านระบบ “หมอพร้อม” พร้อมปรับแผนการจัดสรรวัคซีนใหม่เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน
วันนี้ (26 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงถึงรายละเอียดเรื่องการจองและการกระจายวัคซีนโควิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขใน 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. การลงทะเบียนการฉีดวัคซีนโควิด
ขอให้ชะลอการลงทะเบียนทาง “หมอพร้อม” ไปก่อน เพื่อที่จะให้ หมอพร้อม ทำงานในการติดตามการฉีดวัคซีนและการออกใบรับรองให้ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีการดำเนินการที่หลากหลาย และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกหลากหลาย เช่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเที่ยงวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนผ่านทางร้านสะดวกซื้อ ผ่านทางแอปฯเป๋าตัง หรือ คนที่อยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีแอปฯ ของจังหวัด เช่นเดียวกับ จ.นนทบุรี ก็มีระบบของจังหวัดในการอำนวยความสะดวกเพื่อไม่ให้การลงทะเบียนเป็นคอขวดหรือติดขัด
- คนกรุงเฮ! จองฉีดวัคซีนโควิดผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com – เป๋าตัง – ร้านสะดวกซื้อ
ส่วนคนที่ลงทะเบียนในระบบ “หมอพร้อม” ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ยืนยันว่าจะได้รับวัคซีนโควิดตามจำนวนวัคซีนที่เข้ามา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้ลงทะเบียนและแจ้งความประสงค์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องการฉีดวัคซีน ซึ่งในแต่ละจังหวัดสามารถนำรูปแบบของกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดดังกล่าวไปใช้จองในการฉีดวัคซีนได้
2. แผนการกระจายวัคซีน
จะพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ใหม่ ซึ่งจากเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนเดิมจะจัดสรรให้ตามจำนวนการจอง แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน พื้นที่นั้นๆ อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าพื้นที่อื่น ดังนั้น จึงมีการปรับเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ
– เกณฑ์การติดเชื้อ เช่น จ.เพชรบุรี มีการติดเชื้อจำนวนมากในสถานประกอบการ จึงต้องจัดสรรวัคซีนไปฉีดเพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ จนต้องนำเอาโควตาไปเพิ่มให้ จ.เพชรบุรี ดังนั้น เกณฑ์นี้จะพิจารณาจากอัตราการติดเชื้อรายวัน
– เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนที่คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว
– เกณฑ์พิจารณากลุ่มบุคคลเสี่ยง เช่น กระทรวงคมนาคม ฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนขับรถสาธารณะ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ได้รับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในแวดวงการศึกษา เป็นต้น
นอกจากนี้ กรณีที่มีข่าวโรงพยาบาลที่จังหวัดศรีสะเกษ รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยอาการปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย แต่มีภาพว่ามีการรีบฌาปนกิจศพ โดยใช้ชุด PPE ด้วย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าปกปิดข้อมูลหรือไม่นั้น โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ไม่พบการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด โดยได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ พบว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยโควิดรายที่ 70 ของจังหวัดศรีสะเกษ เข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 64 ผลการรักษาหายจากโควิด และรักษาต่อในโรงพยาบาล พบอาการปอดติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
และเพื่อความไม่ประมาท ทางโรงพยาบาลศรีสะเกษจึงได้ป้องกันโดยนำผู้เสียชีวิตรายนี้ทำการฌาปนกิจเหมือนผู้เสียชีวิตโควิดรายอื่นๆ จึงมีการใช้ชุด PPE ซึ่งมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะกรรมการของกรมควบคุมโรค ว่า เป็นการรายงานของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้ถูกต้องต่อไป ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด