นายกฯ ลงนามข้อกำหนดรับเปิดประเทศ คงเคอร์ฟิว 7 จังหวัดสีแดงเข้ม

Home » นายกฯ ลงนามข้อกำหนดรับเปิดประเทศ คงเคอร์ฟิว 7 จังหวัดสีแดงเข้ม

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนด-คำสั่ง ศบค. รองรับการเปิดประเทศ คงเคอร์ฟิว 7 จังหวัดสีแดงเข้มห้ามรวมกลุ่มเกิน 50 คน พร้อมมาตรการคนเดินทางเข้าประเทศ

วันนี้ (30 ต.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37) ระบุใจความว่า รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งปรับเกณฑ์การพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นและรองรับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ข้อกำหนดฉบับนี้จึงเป็นการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค และรวบรวมบรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการต่างๆ  ที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดฉบับก่อนหน้า โดยจำแนกออกเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่แตกต่างลดหลั่นกันตามความรุนแรงของการระบาดของโรค

นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของ ศบค. ดังต่อไปนี้ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

 

ทั้งนี้ ยังคงห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกัน ของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพรโรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน,พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน,พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า ห้าร้อยคน,พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่าหนึ่งพันคน และพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้ ห้ามมีให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม

การห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00น. ถึง03.00น. ของวันรุ่งขึ้น โดยใช้บังคับต่อเนื่องไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 วัน (จนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2564) และให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศหรือ ได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป

อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/262/T_0001.PDF

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 19/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุใจความว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี,ตาก,นครศรีธรรมราช ,นราธิวาส,ปัตตานี,ยะลา และสงขลา พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด

อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/262/T_0013.PDF

นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 20/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 18) ระบุใจความว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร อาทิ มีหนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้(Certificate of Entry – COE) หรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศกำหนด, มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือหลักประกันอื่นใดตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักรในวงเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตามที่ทางราชการกำหนด เว้นแต่กรณีผู้เดินทางที่มีสัญชาติไทยและมีสิทธิในการรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และให้มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่กำหนด เป็นต้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/262/T_0014.PDF

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ