นายกรัฐมนตรี และครม. พร้อมแจง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 65 ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมชี้แจงรายละเอียด ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ในวาระที่ 1 ในช่วงวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ครั้งที่ผ่านมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ว่า การประชุมสภาฯในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชี้แจงให้ ส.ส.ทราบ ถึง พรบ.งบประมาณฯ ในรายละเอียดแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อได้รับทราบถึงการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ด้วย และย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยของ ส.ส. และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบไปในคราวเดียวกัน
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 2,360,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับรายจ่ายลงทุนมีจำนวนทั้งสิ้น 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุล ที่มีจำนวน 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ไม่เป็นปัญหาในการจัดงบประมาณในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจาก รัฐบาลสามารถเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ ในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย
ซึ่งประกอบด้วย
1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท
3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้
นอกจากนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 23.67 ตามด้วยยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลย์และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.05 และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17.68
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเน้นว่า นายกรัฐมนตรี จะได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงหลักการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากสถานการณ์โควิด – 19 (พ.ศ. 2564 – 2565) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยได้พิจารณาทั้งแหล่งเงิน ศักยภาพหน่วยงาน และได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว