นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำภาคใต้ สั่งเตรียมพร้อม เฝ้าระวังจุดเสี่ยง-ดูแลประชาชน

Home » นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำภาคใต้ สั่งเตรียมพร้อม เฝ้าระวังจุดเสี่ยง-ดูแลประชาชน



นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำภาคใต้ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี สั่ง เจ้าหน้าที่ เตรียมพร้อม เครื่องมือ ประจำพื้นที่จุดเสี่ยงภัย ทันต่อการให้ความช่วยเหลือประชาชน

10 ธ.ค. 65 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่าง

ซึ่งพบว่าในช่วงวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2565 นี้ จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสภาพอากาศใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักมาก บริเวณ สงขลา นราธิวาส และปัตตานี และออกประกาศฉบับที่ 56/2565 แจ้งพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำลันตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นที่จะกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่ 5 ล้าน ลบ.ม. (จากเดิม 6.05 ลบ.ม.) โดยเริ่มลดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าเพื่อรองรับสถานการณ์ ทั้งการเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบและซ่อมแซมตามแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมไปถึงการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือให้ประจำในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยให้เพียงพอ เพื่อให้ทันต่อการให้ความช่วยเหลือประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ