นายกฯ ชื่นชม ความร่วมมือพัฒนาสะพาน เชื่อม ระบบคมนาคมขนส่ง ไทย-มาเลเซีย

Home » นายกฯ ชื่นชม ความร่วมมือพัฒนาสะพาน เชื่อม ระบบคมนาคมขนส่ง ไทย-มาเลเซีย



นายกฯ ชื่นชม ความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อ ไทย-มาเลเซีย พื้นที่ จชต. ส่งผลดีเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้งสองประเทศ

23 พ.ค. 66 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมผลการร่วมประชุมด้านเทคนิค มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 3 ในโครงการการยกระดับสะพานเชื่อมรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย และสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย

เชื่อมั่นเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม เพิ่มโอกาสแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน สนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งเสริมการค้าชายแดน เชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เมื่อ 22 พ.ค. 66 ที่โรงแรม Pulse Grand ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมด้านเทคนิคมาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 3 ในโครงการการยกระดับสะพานเชื่อมรันเตาปันยัง และสุไหงโก-ลก ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ได้เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทยและมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ศอ.บต. มีข้อเสนอในที่ประชุม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องคลี่คลายโดยเร็ว และดำเนินการได้ทันการดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายงบประมาณของส่วนราชการประจำปี 2567 เพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นของขวัญให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในส่วนของอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอข้างเคียง จังหวัดนราธิวาส ของประเทศไทย และรัฐกลันตัน ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งต่างรอคอยการใช้ประโยชน์สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 นี้ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายด้วยความเป็นมิตรกับทุกประเทศ ให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน พื้นที่ชายแดน เส้นทาง การค้าชายแดน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ นำมาพิจารณาปรับใช้เพื่อดำเนินนโยบาย

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ