นายกกีฬาคนพิการ ระบุกระแสปรับโครงสร้างการบริหารกีฬาคนพิการ คลาดเคลื่อน ซัดคนให้ข่าว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสมาคม และทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน
นายกกีฬาคนพิการ – จากที่มีการให้ข่าวเรื่องประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างการบริหารกีฬาคนพิการในประเทศไทย ภายในเดือนเมษายน 2565 ที่จะถึงนี้ หากไม่ได้ดำเนินการ จะทำให้คณะกรรม IPC ถูกแบน ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้เรื่องดังกล่าว อาจจะสร้างความวิตก และความกังวล ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้ฝึกสอนกีฬาคนพิการในประเทศไทย
นายชูเกียรติ สิงห์สูง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การให้ข่าวดังกล่าวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง ที่สำคัญผู้ที่ให้ข่าวในเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นคณะกรรมสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยประเภทความพิการใด ๆ เลย และไม่ได้เป็นคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย จึงไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
- สนามบีเอ็มเอ็กซ์ ชัยนาทได้รับรอบมาตรฐานสังเวียนแข่งจากจักรยานโลก
เรื่องนี้มีการพูดคุยที่ประชุมคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอแนวทางในเรื่องดังกล่าวไป 3 ขั้นตอนคือ
1.ให้คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ทำหนังสือเรียนปรึกษาไปยังประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) เพื่ออธิบายโครงสร้างการบริหารการจัดการกีฬาคนพิการในประเทศไทยในปัจจุบัน ให้คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลทราบแล้ว ขอปรึกษาถ้าโครงสร้างการบริหารจัดการกีฬาคนพิการในประเทศไทย เป็นเช่นปัจจุบัน มีข้อติดขัดประการใดหรือไม่
2.หากประธานคณะกรรมกาพาราลิมปิกสากล (IPC) แจ้งว่าโครงสร้างการบริหารจัดการกีฬาคนพิการในประเทศไทยปัจจุบันติดขัด หรือมีปัญหาไม่เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ต้องปรับโครงสร้าง ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับ หากต้องปรับประเทศไทยจะขอตัวอย่างโครงสร้างของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นประเทศสมาชิกที่มีการปรับโครงสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในภูมิภาคอาเซียน เอเซีย ยุโรป หรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนากีฬาคนพิการ อย่างเช่นเยอรมัน รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน หรืออเมริกา เป็นต้น เพื่อนำมาเป็นตัวอย่าง หรือไกด์ไลน์ สำหรับประเทศไทย เพราะหาก IPC บังคับทุกประเทศ หมายความว่ากีฬาคนพิการทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของ IPC ต้องมีการปรับโครงสร้าง และเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด
3. เมื่อได้ตัวอย่างไกด์ไลน์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างรูปแบบการปรับโครงสร้างในการพัฒนากีฬาคนพิการในประเทศไทย โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนประชุมร่วมกันเพื่อทราบถึงแนวทาง และร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการพัฒนากีฬาคนพิการมากที่สุดตามบริบท ของประเทศไทย และดำเนินการภายใต้ระเบียบหรือข้อกำหนดที่คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลได้วางเพื่อใช้บังคับทุกประเทศที่เป็นสมาชิก
สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอ 3 ขั้นตอนนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในที่ประชุม เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมา แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามลำดับ ที่กล่าวมา มีความพยายามของคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่พยายามหาเอกสารต่างประเทศต่าง ๆ มาอ้างอิง และพยายามให้ข่าวสร้างความแตกแยก และเอกสารที่นำมาอ้างอิงไม่มีการระบุการลงโทษใด ๆ ทั้งสิ้น และที่มาของหนังสือไม่ชัดเจนจนถึงทุกวันนี้
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกีฬาคนพิการในประเทศไทย ภายใต้พรบ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ได้กำหนดให้เป็น 5 สมาคมกีฬาคนพิการที่ลงท้ายด้วยแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
1. สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวในประเทศไทย
2. สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาคนตาบอดในประเทศไทย
3. สมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาคนพิการทางปัญญาในประเทศไทย
4. สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศทไย ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาคนพิการทางสมองในประเทศไทย
5. สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาคนหูหนวกในประเทศไทย
ทั้ง 5 สมาคมกีฬาคนพิการที่ลงท้ายด้วย “แห่งประเทศไทย” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยโดยตรง เพื่อนำมาพัฒนาชนิดกีฬาต่าง ๆ ที่ตนเองดูแล และเป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่งนัก ที่สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ มีผู้บริหารสูงสุดเป็นคนพิการ และบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยม ได้ 100 คะแนนเต็มตามตัวชี้วัดของการกีฬาแห่งประเทศไทย 3 ปี ติดต่อกัน
นอกจากนี้ยังสร้างผลงานได้ดี ทุกระดับการแข่งขัน ผลิตนักกีฬาคนพิการหน้าใหม่ ๆ สู่วงการกีฬาคนพิการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นได้ให้ความสำคัญชนิดกีฬาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จตามที่ปรากฏทิศทางการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว
สำหรับปัญหาที่อ้างถึงกันนั้น ปัจจุบันในการบริหารจัดการกีฬาคนพิการในประเทศไทย ประเทศไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ IPC ทุกประการ เช่น ในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน มหกรรมกีฬาคนพิการเช่น อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ รายการชิงแชมป์โลก ชิงแชมป์เอเซีย หรือการแข่งขันรายการนานาชาติต่างๆ ประเทศไทยประสานส่งผ่านตามขั้นตอนทุกประการ ไม่ติดขัดอะไร เช่น กีฬากรีฑา ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก ยิงปืน และฮอกกี้น้ำแข็ง ส่งผ่านคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย (NPC Thailand)
กีฬาแบดมินตัน เทเบิลเทนนิส จักรยาน เรือพาย วีลแชร์เทนนิส ลอนโบว์ เทควันโด ยิงธนู เป็นต้น ส่งแข่งขันผ่านสมาคมกีฬาคนปกติที่ลงท้ายด้วยแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกเพียงหนึ่งเดียวของสหพันธ์ชนิดกีฬานั้นๆ กีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล วอลเลย์บอล (นั่ง) วีลแชร์รักบี้ เป็นต้น ทั้งในเรื่องของส่งแข่งขัน หรือจัดการแข่งขัน ส่งตรงไปยังสหพันธ์ชนิดกีฬานั้นๆ
ที่ผ่านมาหากประเทศไทย ทำผิดขั้นตอน หรือไม่ทำตามวิธีปฏิบัติตามที่คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) กำหนด จะสมัครส่งแข่งขันรายการนานาชาติไม่ได้ และไม่สามารถจัดการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ดังนั้นมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพื่อให้ได้กลับมาทำกีฬาคนพิการ หรือหวังประโยชน์อื่น เท่านั้น
อีกประการที่สำคัญ หากจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ให้กีฬาคนพิการทุกชนิดกีฬาสามารถแยกไปจัดตั้ง เป็นสมาคมกีฬาคนพิการชนิดต่างๆ ที่ลงท้ายด้วย “แห่งประเทศไทย” สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ ยินดีสนับสนุน เพื่อจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาที่แท้จริง ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือหวังแค่จะดึงกีฬาที่มีการพัฒนาดีอยู่แล้วไปทำต่อแค่นั้น
หากมีการปรับโครงสร้างจริงๆ ต้องถามว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย จะยอมรับการเกิดสมาคมกีฬาคนพิการชนิดต่างๆ ที่ลงท้ายด้วยแห่งประเทศไทย ประมาณ 25-30 ชนิดกีฬาได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่เลือกบางชนิดกีฬาเท่านั้น แต่คงไม่ใช่แนวทางที่จะให้กีฬาคนพิการไปเป็นติ่งหนึ่งของสมาคมกีฬาคนปกติชนิดต่างๆ อย่างนี้ชาวกีฬาคนพิการรับกันไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีระบบการบริหารจัดการดีอยู่แล้ว
นายชูเกียรติ กล่าวเสริมอีกว่าขณะนี้ สิ่งที่ควรทำให้ถูกต้องคือการปฏิบัติตามธรรมนูญคณะกรรมการพาราลิมปิกประเทศไทย ปี 2552 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด และมีการแปลโครงสร้างการบริหารจัดการกีฬาคนพิการในประเทศไทย ส่งให้คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ตามหน้าที่ของ NPC Thailand ควรจะต้องทำ ในฐานะองค์กรสมาชิก และการแปล หรือการให้ข้อมูลดังกล่าว ควรจะต้องผ่านการประชุมเห็นชอบโดยคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยทุกครั้งไป ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่สำนักงานบางคน หรือกรรมการคนใด คนหนึ่งเท่านั้น