คำว่า “ปีมะโว้” เชื่อว่าหลายคน โดยเฉพาะคนที่อายุ 30+ ต้องเคยได้ยินหรือได้ใช้คำนี้กันมาบ้าง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าแทนความหมาย เวลาเก่าก่อนที่ยาวนาน หรือสิ่งนั้นเกิดขึ้นมานานมากแล้ว จนยากที่จะระบุได้ว่าตั้งแต่เมื่อใด
อย่างไรก็ดี ที่มาของคำนี้มาจากไหน? อะไรคือ ปีมะโว้? ตรงนี้เรามีคำตอบมาให้แล้ว
สำหรับคำว่า “ปีมะโว้” นี้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ให้คำอธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า ปีมะโว้ เป็นสำนวน หมายความว่า เป็นเวลานานนักหนามาแล้ว คำว่า “มะโว้” มุ่งถึงเมืองละโว้ คือเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณเก่าแก่
นอกจากนี้ ปีของไทยมีคำ “มะ” นำหน้าอยู่ 4 ปี คือ มะโรง, มะเส็ง, มะเมีย และ มะแม เมื่อต้องการจะพูดว่านานนักหนาหลายปีมาแล้วตั้งแต่สมัยเมืองละโว้ จึงเอาคำ “มะ” มาใช้แทน “ละ” กลายเป็นพูดว่า “ปีมะโว้” แทนนั่นเอง
สืบเนื่องจากการที่ทราบถึงที่มาของ “ปีมะโว้” ว่ามาจากสมัยเมืองละโว้ ลพบุรี ถ้าอิงตามหลักฐานที่ปัจจุบันเชื่อถือกันตั้งแต่ พระยากาฬวรรณดิษ (บ้างเขียน กากวรรณดิษ) เป็นผู้สถาปนาเมืองละโว้ แล้วจึงสถาปนาปีจุลศักราชขึ้นมาใช้ เพื่อเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่กับอาณาจักรใหม่นั้น
นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าปฏิทินจุลศักราช อาจเป็นปฏิทินพม่า คิดค้นกันมาตั้งแต่สมัยปยู แล้วสุโขทัย, ละโว้ ฯลฯ รับต่อมาอีกที นั่นจะทำให้ปีจุลศักราช 1 (ตรงกับพ.ศ. 1182 และ ค.ศ. 639) ซึ่งปีนั้นเองที่ถูกนับเป็น “ปีมะโว้” อย่างแท้จริง