นาทีระทึก! ช้างป่าเขาสอยดาวรุ่นใหญ่ ปะทะเดือด เปิดศึกชิงสาวสู้ไม่ถอย-แผดเสียงลั่นป่า ต่างฝ่ายต่างก็จ้องจะแย่งชิงช้างตัวเมีย
วันที่ 28 พ.ย. 2564 หลังจากอุทยานประกาศเตือนคนเมืองจันทบุรีเฝ้าระวังฝูงช้างป่าตกมัน บุกพื้นที่เกษตร หลังอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าเขาสอยดาว ชุดนาฬาคีริงเผยว่าเมื่อช่วงวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่าน พบฝูงช้างป่าจำนวน 20 – 25 เชือกป้วนเปี้ยนอยู่ในพื้นที่ชาวบ้าน
ล่าสุดทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเผยคลิปนาทีระทึก ศึกชนระหว่างช้างพลายและช้างสีดอตัวใหญ่ เหตุแย่งชิงช้างพังแสนงาม
โดยระบุข้อความว่า “นายอาคม พงษ์สุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี แจ้งว่าพบช้างป่าเพศผู้ จำนวน 2 ตัว ต่อสู้กันบริเวณหลังหน่วยพิทักษ์ป่าวังแพร โดยสาเหตุอาจจากการแย่งความเป็นใหญ่ เพราะช่วงนี้ช้างอยู่ในฤดูพร้อมผสมพันธุ์ มีอาการตกมัน พร้อมจะแย่งช้างตัวเมียกัน”
ในคลิปแสดงภาพช้างสีดอ (งาสั้น) ตัวใหญ่ต่อสู้กับช้างพลาย (งายาว) พร้อมแผดเสียงออกมาอย่างดังกังวาน ด้วยความที่ไร้อาวุธหรือมีงาสั้น แม้จะมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ช้างสีดอก็ล่าถอยออกมาก่อน ซึ่งช้างพลายยังตามมาอย่างไม่ลดละ ทำให้ศึกครั้งนี้ยังไม่ทราบผลแพ้ชนะที่ชัดเจน
นับตั้งแต่คลิปดังกล่าวถูกแชร์ มีชาวเน็ตเข้าไปคอมเมนต์กันมากมาย บางคนแซวถึงเจ้าหน้าที่อุทยานที่พยายามถ่ายความระทึกขณะปีนต้นไม้ ไม่ว่าจะ“ลุ้นคนถ่ายมากกว่านะ!” “เทคแคร์นะคะ คนถ่ายคลิป ระวัง ๆ ด้วย” “เป็นห่วงคนถ่ายคลิป” “ได้เห็นเป็นขวัญตา ขอบคุณมากค่ะ”
“สีดอใหญ่กว่าก็จริงแต่ไม่มีอาวุธ” “ช้างตัวเมียเพราะความสวยแท้ ๆ ” “คนถ่ายท่าทางจะปืนต้นไม้เก่ง” “ขอบคุณคนถ่ายคลิป ที่เสียสละและถ่ายภาพเรียล ๆ ให้ดูค่ะ ขุนช้างกับขุนแผน แย่งนางวันทองหรือเปล่าคะ?”
อย่างไรก็ตาม วันนี้ทางทีมข่าวสดจะขอเสนอข้อควรปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า เพื่อเป็นแนวทางในการเอาตัวรอด โดยกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยคู่มือความรู้เรื่องช้าง
ช้างป่าตกมัน (Musth) การตกมันจะเกิดขึ้นได้กับช้างป่าทั้งเพศผู้และเพศเมียที่มีร่างกายสมบูรณ์ในวัยเจริญพันธุ์ อายุ16 – 60 ปี
อาการตกมันของช้าง คืออาการที่ช้างมีของเหลวข้นคล้ายนํ้ามันเหนียวสีเข้ม มีกลิ่นแรงไหลออกมาจากรูเล็ก ๆ บริเวณต่อมที่ขมับทั้งสองข้างระหว่างรูหูกับตาและไหลเปื้อนบริเวณแก้มจนไหลเข้าสู่ปาก ซึ่งช่วงระยะนี้เป็นช่วงที่ช้างป่าแสดงอาการดุร้ายฉุนเฉียวมากที่สุด
การประเมินสถานการณ์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับช้างป่า
ขั้นที่ 1 สังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่าย
- ช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวง สะบัดไปมาหรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจคน
- ช้างอารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง งวง และหางจะหยุดแกว่งพร้อมจ้องมองมาทางตน บางครั้งช้างจะชูงวงขึ้นพร้อมกับยืด โน้มตัวให้สูงขึ้นไปด้านหน้า
- ช้างส่งสัญญาณขู่ หูจะโบกไปมาหรือแกว่งงวงและขา ไปมา
- ช้างเตรียมจู่โจม หูของช้างกางออกและงวงนิ่งหรือม้วนงวง
ขั้นที่ 2 ถอยให้ห่างบริเวณที่พบช้าง
- เจอช้างระยะกระชั้นชิดอย่ารีบส่งเสียงดังไล่ เพราะช้างบางตัวอาจจะตกใจหรือรำคาญเสียงมนุษย์แล้วชาร์จเข้ามาทันที
- อย่ากลับหลังหันวิ่งหรือหันหลังให้กับช้าง กรณีที่ต้องวิ่งหนี ห้ามวิ่งเป็นเส้นตรงเด็ดขาด ควรวิ่งตัดเฉียง 45 องศา หลบไปตามแนวต้นไม้ใหญ่ เพราะช้างกลับตัวทำได้ค่อนข้างช้า นอกจากนี้ การหนีลงที่ลาดชันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเช่นกัน
- หลบหลีกขึ้นที่สูง เช่น ปีนต้นไม้ที่มีความแข็งแรงและมีความสูงเพียงพอเกินระยะที่ช้างป่าจะใช้งวงจับยึดได้
- กรณีที่ไปเป็นกลุ่ม การส่งเสียงดังเพื่อขับไล่ช้าง นั้นจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มให้ปลอดภัยทุกคน
- กรณีที่ช้างวิ่งเข้าหาให้ทิ้งสัมภาระ ทำให้ตัวเบาและคล่องตัวที่สุดพร้อมส่งเสียงดัง กรีดร้อง เสียงโห่ร้อง รวมถึงแสดงอาการต่างๆ เช่น ชูแขน ชูมือ พร้อมทั้งเคลื่อนที่ออกจากจุดที่พบช้าง
- หากวิ่งหนีแล้วหกล้ม ช้างวิ่งมาถึงตัวเข้าทำร้ายให้พยายาม ตั้งสติกลิ้งหลบให้พ้นรัศมีช้าง จากนั้นรีบลุกวิ่งต่อทันที
- ส่วนกรณีที่หลบไม่ทัน หากมีโอกาสจุดอ่อนของช้างจะอยู่บริเวณเบ้าตาและบริเวณที่โคนเล็บให้ใช้มือหรือไม้กระทบบริเวณดังกล่าวหลายครั้ง เพื่อให้ช้างหยุดชะงัก จากนั้นรีบลุกวิ่งหลบหนีต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / คู่มือความรู้เรื่องช้าง