นาซ่าอวดภาพดาวระเบิด ผลงานแรกยานสำรวจกล้องเอกซเรย์IXPE
นาซ่าอวดภาพดาวระเบิด – วันที่ 17 ก.พ. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า เผยแพร่ภาพถ่ายภาพแรกของยานสำรวจลำใหม่ที่เพิ่งส่งขึ้นไปนอกโลก
ยานสำรวจลำดังกล่าวเป็นยานที่ได้รับการติดตั้งกล้องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ ชื่อว่า Imaging X-Ray Polarimetry Explorer (IXPE) ถูกส่งขึ้นไปจากผิวโลกเมื่อกว่า 2 เดือนก่อน และถ่ายภาพสภาพหลังการระเบิดของดาว Cassiopeia A ส่งมาให้กับนาซ่า
นายเปาโล โซฟฟิตตา หัวหน้าทีมสำรวจของยาน IXPE จากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี กล่าวว่า เป็นภาพที่สวยงามมากและนักวิทยาศาสตร์กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการวิเคราะห์ภาพถ่ายที่ได้มา
รายงานระบุว่า โครงการยานสำรวจ IXPE เป็นความร่วมมือกันระหว่างนาซ่าและองค์การอวกาศอิตาลี หรือไอซ่า แม้ดาว Cassiopeia A จะเคยถูกสำรวจมาแล้วด้วยกล้องโทรทัศน์ปกติ แต่กล้องเอกซเรย์ของ IXPE จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ และช่วยให้การศึกษาปรากฏการณ์การระเบิดของดวงดาว หรือซูเปอร์โนวา หลุมดำ และดาวนิวตรอนง่ายขึ้น
สำหรับซูเปอร์โนวาของดาว Cassiopeia A นั้นอยู่ห่างจากโลกไปราว 11,000 ปีแสง เป็นสมาชิกอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกเดียวกันกับโลก ปัจจุบัน ดาวดวงนี้ระเบิดไปแล้ว หลงเหลือแต่เพียงกลุ่มก๊าซ เป็นข้อมูลที่ทราบล่าสุด เพราะภาพที่มนุษย์มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 340 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์คำนวณพบด้วยว่า แสงจากการระเบิดของซูเปอร์โนว่าของดาว Cassiopeia A เดินทางมาถึงโลกครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2213
ทั้งนี้ รังสีเอกซเรย์นับเป็นหนึ่งในรังสีที่มีพลังงานสูงและเกิดจากปรากฏการณ์สุดขั้วต่างๆ ยกตัวอย่างในอวกาศ อาทิ สนามแม่เหล็กกำลังสูง การชนกันของวัตถุ การระเบิด อุณหภูมิสูงสุดขั้ว และการหมุนอย่างรวดเร็ว
การวิเคราะห์รังสีเอกซเรย์สามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงที่มาของแหล่งกำเนิดได้ แต่ชั้นบรรยากาศของโลกนั้นเป็นเกราะป้องกันรังสีต่างๆ ในอวกาศ ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องส่งยานที่ติดตั้งกล้องถ่ายรังสีเอกซเรย์ไปไว้นอกโลก