นาซาเผยภาพที่ยาน “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” บันทึกไว้ได้ ขณะบินผ่านชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์

Home » นาซาเผยภาพที่ยาน “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” บันทึกไว้ได้ ขณะบินผ่านชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์



หลังจากที่องค์การนาซาได้ประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ยานสำรวจดวงอาทิตย์ “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (PSP) เดินทางถึงบรรยากาศชั้นนอกหรือชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์แล้ว ทำให้ยานลำนี้กลายเป็นพาหนะแรกของมนุษยชาติ ที่ประสบความสำเร็จในการ “แตะ” ดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะได้อย่างแท้จริง

ล่าสุดมีการเผยแพร่ภาพขณะยานบินฝ่ากระแสพลาสมาที่ร้อนแรงของชั้นโคโรนา รวมทั้งบินผ่านลำไอพ่นของอนุภาคพลังงานสูงที่เปล่งแสงเจิดจ้า ซึ่งเรียกว่า pseudostreamers อีกด้วย โดยภาพเหล่านี้บันทึกไว้ได้ระหว่างวันที่ 8-12 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะยานเหวี่ยงตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เป็นรอบที่ 9

ภาพถ่ายขณะยาน PSP บินฝ่ากระแสพลาสมาที่เรียกว่า Psudostreamer

  • คลิปวิดีโอขณะยาน PSP บินเข้าสู่บรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์

อันที่จริงยาน PSP ได้สัมผัสกับบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ครั้งแรกเป็นเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.ของปีนี้แล้ว แต่ข้อมูลที่เดินทางมาจากยานเพิ่งจะถูกส่งมาถึงโลก และเพิ่งได้รับการวิเคราะห์ยืนยันความถูกต้องในรายงานซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Physical Review Letters ฉบับล่าสุด

ภาพที่บันทึกไว้ด้วยกล้อง WISPR ซึ่งเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพชนิดพิเศษที่ติดตั้งบนยาน PSP แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบขณะยานพุ่งไปด้วยความเร็ว 147 กิโลเมตรต่อวินาที โดยเส้นโค้งและเส้นตรงสว่างจ้าที่มองเห็นนั้นคือแถบของ pseudostreamers พลาสมาและก๊าซมีประจุไฟฟ้าซึ่งทอดตัวยาวเชื่อมต่อระหว่างขั้วเหนือกับขั้วใต้ของดวงอาทิตย์

ภาพจำลองขณะยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (PSP) “สัมผัสดวงอาทิตย์”

  • เหตุผล 4 ข้อที่ยานในภารกิจสัมผัสดวงอาทิตย์ไม่มอดไหม้
  • “ยานสัมผัสดวงอาทิตย์” เริ่มส่งข้อมูลช่วยไขปริศนาลมสุริยะ-อุณหภูมิชั้นโคโรนา
  • ภารกิจ “แตะ” ดวงอาทิตย์ของนาซา

ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นสิ่งนี้ได้ระหว่างการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง โดยลำพลาสมาเหล่านี้จะถูกลมสุริยะพัดให้ขยายตัวและเคลื่อนไหว จนดูคล้ายกับเปลวเพลิงที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์

ดร. แกรนท์ เทรมเบลย์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด – สมิธโซเนียน ของสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อขยายภาพที่ยาน PSP บันทึกไว้ เราจะสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะชั้นในได้ไกลจนถึงดาวเสาร์ รวมทั้งมองเห็นโลกและทางช้างเผือกได้จากภายในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ด้วย

ภาพขยายขณะยาน PSP อยู่ในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ เมื่อมองออกไปสามารถเห็นทางช้างเผือกและดาวศุกร์ได้

ภารกิจของยานสัมผัสดวงอาทิตย์ในอีก 4 ปีข้างหน้านั้น ยังเหลือการเดินทางเพื่อเหวี่ยงตัวเข้าด้านในของดวงอาทิตย์อีก 15 รอบ โดยจะลดระดับจากบรรยากาศชั้นโคโรนาลงไปถึงพื้นผิวของดาวฤกษ์ที่เรียกว่า Alfven critical surface ซึ่งไม่ใช่พื้นผิวที่เป็นหินแข็ง แต่เป็นขอบเขตที่ความโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ยังทรงพลังพอที่จะกักเก็บพลาสมาเอาไว้ภายในได้

……………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ