องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพเสียงของประชาชน รับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและรุนแรง
วันที่ 22 พ.ค.2566 องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์เรื่อง กรณีผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 มีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ได้ปรากฎผลการเลือกตั้งอันสะท้อนภาพของมติประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศแล้วนั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอแถลงมติ ดังนี้
1.เราคำนึงถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา อันเปิดกว้างแก่นักศึกษาจากทุกชนชั้น ช่วงวัย ความรู้และความหลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัย และเป็นหลักการพื้นฐาน ในแนวทางปฏิบัติของเหล่าสมาชิกองค์การนักศึกษา
2.องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง คำนึงถึงความหลากหลายและยึดมั่นในนิยามประชาธิปไตย ตามแนงทางของคำประกาศในที่ประชุมแห่งประชาธิปไตย ( Dectaration of Summit for Democracy ) ครั้งที่ 2 ซึ่งเห็นร่วมกันว่าความเป็นประชาธิปไตยอาจอยู่ภายใต้รูปแบบที่หลากหลาย แต่มีคุณลักษณะร่วมกัน ได้แก่
“การเลือกตั้งเป็นธรรมและเสรี ซึ่งมอบสิทธิที่เข้าถึงได้แก่ทุกคน การแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุล การเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสันติ เสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อ ความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล ความรับผิดชอบ การไม่แบ่งแยก ความเท่าเทียมทางเพศ การมีส่วนร่วมของพลเมือง ความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและสมาคมโดยสันติ”
3.โดยเหตุข้างต้น ในฐานะตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความเคารพต่อหลักการพื้นฐานของมหาวิทยาลัย รวมถึงความเคารพต่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคน ทางองค์การ จึงสนับสนุนและเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ดำเนินการทางการเมืองตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นเครื่องมือรับรองผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งและรุนแรง
4.องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงออกแถลงการณ์ ด้วยความยึดมั่นในหลักการมหาวิทยาลัยของปวงชนและไม่สนับสนุนการบีบบังคับความเชื่อ อุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การขัดต่อกรอบคุณลักษณะของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์