นักวิทย์คาดค้นพบ “ดาวนิวตรอน” – ซินหัว รายงานว่า คณะนักดาราศาสตร์จีนเผยการค้นพบวัตถุที่คาดว่าอาจเป็น “ดาวนิวตรอน” ลักษณะแปลกประหลาดใน ระบบดาวคู่ อยู่ห่างจากโลก 385 ปีแสง และอาจเป็นดาวนิวตรอนใกล้โลกที่สุดและเบาที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาหากได้รับการยืนยัน
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยการค้นพบโดยอ้างอิงจากการสังเกตการณ์ผ่าน “กล้องโทรทรรศน์ลามอสต์” และ “กล้องโทรทรรศน์สนามกว้างหนานซาน ขนาด 1 เมตร” ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ผลวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารแอสโตรฟิสิคอล เจอร์นัล เลตเตอร์ส ระบุว่าวัตถุดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนคู่มิตรกับดาวอายุมากดวงหนึ่ง มีมวลเพียง 0.98 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ สันนิษฐานว่าคล้ายคลึงกับดาวนิวตรอนที่แยกตัวออกจาก “แสงวาบรังสีเอกซ์” (XDINS) แต่อยู่ในระบบดาวคู่
ปัจจุบันมีการค้นพบดาวเอ็กซ์ดีไอเอ็นเอสเพียง 7 ดวงเท่านั้น มันเป็นวัตถุแปลกประหลาดที่มีสัญญาณวิทยุที่ตรวจจับแทบไม่ได้ และถูกตั้งชื่อว่า “แมกนิฟิเซนต์ เซเว่น” (Magnificent Seven) โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 391-1,630 ปีแสง
ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่าดาวนิวตรอนข้างต้นก่อตัวเป็นรูปร่างผ่านซูเปอร์โนวาแกนยุบ แต่มีแนวโน้มว่าอาจมีมวลมากกว่า 1.17 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ข้อมูลเชิงสเปกตรัมของกล้องโทรทรรศน์ลามอสต์ยังแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของ “จานรวมมวล” (accretion disk) ขนาดเล็กรอบวัตถุที่อาจเป็นดาวนิวตรอนนี้ รวมถึงระดับกิจกรรมของจานรวมมวล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หลุมดำเกิดใหม่จากดาวนิวตรอนรวมตัวกัน สามารถผลิตทองคำและโลหะล้ำค่าให้จักรวาลได้
- พบวัตถุอวกาศชนิดใหม่ “ดาวนิวตรอนดำ” พลิกแนวคิดเรื่องวงจรชีวิตดาวฤกษ์