สถานการณ์ขยะติดเชื้อในศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของจังหวัดนนทบุรี ที่มีปริมาณตกค้างสะสมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ด่านหลังอย่างเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะของศูนย์กำจัดมูลฝอย อบจ.นนทบุรี ต้องรับภาระที่หนักมากขึ้นจากการจัดเก็บขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากถึง 3-4 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด
นายณพ สัยละมัย เจ้าหน้าที่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฎิบัติการของ ศูนย์กำจัดมูลฝอย อบจ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากจนทำให้เผาทำลายไม่ทันแล้ว สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่จัดการขยะวิตกกังวลมากที่สุด คือความเสี่ยงในการไปสัมผัสขยะติดเชื้อในแต่ละวัน ซึ่งทาง อบจ.นนทบุรี ต้นสังกัดก็เกรงว่าเจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหลัง เหล่านี้จะทนแบกรับการทำงานที่หนักขึ้นและมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจเท่าเดิมไม่ไหว
เพราะสถานการณ์ในตอนนี้หากล้มป่วยติดเชื้อมา การจะหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นเรื่องยากมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บุคคลากรด่านสุดท้ายแห่งนี้ ถอดใจ ไม่ทำหน้าที่ในตรงนี้ต่อ
นายณพ กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องความเสี่ยงและค่าตอบแทนที่น้อยนิดแล้ว ภาระที่หนักหน่วงในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ที่ต้องทำงานมากขึ้น จัดเก็บมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลากรเหล่านี้มีความเหนื่อยล้าสะสมเป็นอย่างมาก เพราะต้องเร่งจัดเก็บขยะติดเชื้อที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ไม่ให้ตกค้าง จึงต้องเร่งทำงานตลอด ทั้ง 7 วัน และสะสมมานานเป็นเดือน จนทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนสภาพร่างกายเริ่มป่วย
จึงจำเป็นต้องลดการเก็บขยะของแต่ละคนเหลือ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็ต้องออกเก็บขยะเพิ่มเป็น 3 เที่ยวต่อวัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ทาง อบจ.นนทบุรี ก็ยังไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เก็บขยะจะสามารถทำหน้าที่ให้ระบบสาธารณสุขตรงจุดนี้เดินต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าร่างกายเขาเหล่านั้นไม่ไหวอาจส่งผลกระทบต่อระบบตรงจุดนี้
นายณพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันขยะติดเชื้อไม่ได้เหมือนกับเมื่อก่อนที่มีเพียงขยะไม่กี่อย่าง แต่ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันนี้นอกจากจะมีขยะติดเชื้อที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ปัจจุบันกรมอนามัยจัดยังให้ขยะติดเชื้อเหล่านี้ซึ่งมีทั้งอาหาร น้ำและภาชนะบรรจุต่างๆ ที่ผู้ป่วยติดเชื้อใช้แล้วทิ้งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมดด้วย จึงทำให้ประเภทขยะติดเชื้อและจำนวนขยะติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นไปด้วย เมื่อภาระหนักขึ้น แต่ค่าตอบเท่าเดิมไม่สามารถปรับเพิ่มได้โดยตรง จึงทำให้มีคนที่จะเข้ามาทำงานปลายทางตรงนี้ค่อนข้างน้อย เพราะกลัวติดเชื้อส่งผลให้บุคลากรที่มีอยู่ลดลง แต่ภาระการทำงานสูงขึ้น