การศึกษาชิ้นหนึ่งในฮ่องกงเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบ mRNA ที่บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ พัฒนาร่วมกับ ไบออนเทค เอสอี ส่งผลให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อต้านไวรัสโคดรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สูงกว่าวัคซีนแบบเชื้อตายของซิโนแวคถึง 10 เท่า
ผลการศึกษานี้มีการเผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ แลนเซต เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ค.) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างของการศึกษาชิ้นนี้คือพนักงานด้านสาธารณสุขของฮ่องกง
กลุ่มนักวิจัยที่ทำการศึกษานี้ระบุว่า แม้แอนติบอดีที่ต่อสู้กับโรคนั้นไม่ใช่ทั้งหมดที่จะวัดถึงประสิทธิภาพหรือความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ของวัคซีน แต่ความแตกต่างในการสร้างแอนติบอดีก็พอจะยืนยันได้ค่อนข้างมากว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ไหน
การศึกษานี้ยังตอกย้ำหลักฐานอื่นๆ ว่าวัคซีนแบบ mRNA ให้การป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมต่อไวรัสแบบกลายพันธุ์ชนิด่างๆ มากกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม อย่างเช่น การใช้เชื้อตาย
หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล และสหรัฐ ที่พึ่งพาวัคซีนชนิด mRNA ก็พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันประเทศที่ใช้วัคซีนแบบเชื้อตายจากซิโนแวค ไบโอเทค และ ซิโนฟาร์ม กรุ๊ป กลับควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ยากกว่า แม้ว่าวัคซีนจากจีนทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าของวัคซีนแบบเชื้อตายนี้ ทำให้หลายประเทศอย่าง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องหาวัคซีนเพิ่มเพื่อมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังจากพบว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดเดลตา
การศึกษาในฮ่องกงชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า การศึกษาชิ้นต่อๆ ไปในอนาคต อาจรวมถึงการศึกษาว่า วัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มแอนติบอดีและการป้องกันโรคให้กับกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายไปแล้วหรือไม่