นักวิจัยวิศวะมหิดลเจ๋ง! นายกฯ ชม สกัดสารจากทะลายปาล์ม ใช้นำส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG หนุน ไทยสู่เมดิคัลฮับ
6 ม.ค. 66 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสามารถทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสง” จากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อนำส่งยารักษามะเร็งลำไส้แบบ ‘เคมีบำบัดมุ่งเป้า’ ได้สำเร็จ สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจ BCG และเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเป็นเมดิคัลฮับ โดยได้รับการสนุบสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นฝีมือจากทีมนักวิจัยไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 5 คน และหน่วยปฏิบัติการเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งได้คิดค้นนวัตกรรม “อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” จนสำเร็จ
ซึ่งการใช้อนุภาคคาร์บอน (Carbon Dots) ที่เป็นวัสดุนาโนในการนําส่งยาเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปขัดขวางและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงจํากัดบริเวณเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่อย่างแม่นยำ ช่วยลดผลกระทบต่อเซลล์ปกติโดยรอบและลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้โดยคุณสมบัติของอนุภาคคาร์บอน (Carbon Dots) มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ มีขนาดเฉลี่ยต่ำกว่า 10 นาโนเมตร สามารถเคลื่อนที่เข้าไปในเซลล์ได้ดี และมีคุณสมบัติในการเรืองแสงหลายสี ซึ่งจะช่วยติดตามการบำบัดรักษาได้ว่ายาอยู่ส่วนไหนของร่างกาย
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนนั้น นางสาวรัชดา กล่าวว่า ทีมวิจัยได้เลือกใช้กระบวนการไฮโดรเทอมัล คาร์บอไนเซชัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ มีศักยภาพในการขยายขนาดในภาคอุตสาหกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของการสังเคราะห์อนุภาคคาร์บอนจากทะลายปาล์ม ทะลายปาล์มมีโครงสร้างหลัก คือ กลุ่มของลิกโนเซลลูโลส (Lignocellulose)
ที่ประกอบด้วยเซลลูโลส (Cellulose) 35-50% เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose) 20-35% และลิกนิน (Lignin) 10-25% เมื่อผ่านกระบวนการปรับสภาพและแยกองค์ประกอบแล้ว จะกลายเป็นอนุภาคคาร์บอนที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นวัสดุระดับนาโนจากชีวมวลเหลือจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรมการแพทย์ได้
“ประโยชน์ของนวัตกรรม ‘อนุภาคคาร์บอนเรืองแสงจากสารชีวพอลิเมอร์ทะลายปาล์ม เพื่อส่งยารักษามะเร็งลำไส้แบบมุ่งเป้า’ จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีต้นทุนการรักษาต่ำ ไม่มีพิษต่อร่างกาย
อีกทั้ง ยังลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึง ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตจากวัตถุดิบการเกษตรที่มีในประเทศ และลดการนำเข้าวัสดุนำส่งยาที่มีราคาแพง
ตลอดจนสอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ที่จะสร้างโอกาสในการต่อยอดอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยก้าวสู่การเป็นเมดิคัลฮับของภูมิภาค” น.ส.รัชดา กล่าว