นักวิจัยพบฟอสซิล “สัตว์ขาปล้องน้ำจืด” – ซินหัว รายงานว่าคณะนักวิจัยร่วมของจีนและสหราชอาณาจักรค้นพบซากฟอสซิล “สัตว์ขาปล้อง” (arthropod) ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและมีเดือยแหลม ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ ประเทศจีน
คณะนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ระบุว่าสิ่งที่พบเป็นซากฟอสซิลลำตัวสัตว์ขาปล้องน้ำจืดเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีน มีอายุราว 420 ล้านปี
สัตว์ขาปล้องชนิดนี้มีชื่อว่า “Maldybulakia saierensis” ลักษณะเหมือนแมลงมีหนามแหลมรอบลำตัวที่แบ่งเป็นหลายส่วนอย่างสมมาตรทั้งสองด้าน ส่วนหางงอกยาวเรียวแหลม
จากการวิเคราะห์ระดับความเค็มและข้อมูลอื่นๆ ของจุดที่ค้นพบซากฟอสซิล ทำให้สรุปได้ว่าสัตว์ขาปล้องชนิดนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมน้ำจืด เช่น แม่น้ำหรือทะเลสาบตามเทือกเขา
นายสวี หงเหอ ผู้เขียนงานวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง กล่าวว่าสัตว์ขาปล้องเป็นไฟลัมขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสัตว์ ตั้งแต่กุ้งและปูในทะเลและน้ำจืดจนถึงยุง แมลงวัน และแมงมุมบนบก
ก่อนเสริมว่าการอุบัติขึ้นมาของสัตว์ขาปล้องน้ำจืดเป็นจุดเชื่อมการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการ “ขึ้นบก” ของสัตว์ทะเล โดยการค้นพบนี้เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อทำความเข้าใจวิธีที่สัตว์ย้ายจากมหาสมุทรขึ้นมาบนบก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พบร่องรอยมนุษย์โบราณ 43,000 ปี หลังกระแสน้ำซัด “ซากฟอสซิล” เกยตลิ่งเสฉวน
- นักวิทย์เผย “ฟอสซิลกุ้ง” ในยูนนานเป็น “สายพันธุ์ใหม่” อายุเก่าแก่ 518 ล้านปี!
- รุดหน้าวิจัยฟอสซิลกะโหลก “มนุษย์อวิ๋นเซี่ยน” หมายเลข 3 อายุนับล้านปี