นักวิจัยกัญชา เตือนเกษตรกร อย่าหลงเชื่อ ขายได้โลละ 7 หมื่น ยันไม่มีอยู่จริง แนะถ้ายังหาตลาดขายไม่ได้ อย่าแห่มาปลูก เสี่ยงขาดทุน
นครราชสีมา – วันที่ 2 ธ.ค.65 ที่ฟาร์มปลูกกัญชามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. อ.เมือง จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่เร่งเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชา เพื่อนำไปอบแห้งเตรียมส่งไปจำหน่ายตามออเดอร์ ให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์
โดยฟาร์มปลูกกัญชามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถือเป็นต้นแบบฟาร์มปลูกกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ซึ่ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา และการปลูก ตั้งแต่ การวางระบบโรงเรือนมาตรฐาน การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การเพาะกล้า เตรียมการปลูก บำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว การรักษาคุณภาพ และทำการวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ นำไปต่อยอดเป็นธุรกิจผลิตพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างมีคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์ GAP ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ มาขอคำปรึกษาและร่วมเป็นเครือข่ายเป็นจำนวนมาก
ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. กล่าวถึงประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม โดยห้ามจำหน่ายให้เด็ก สตรีมีครรภ์ นักเรียน นักศึกษา ห้ามโฆษณาเพื่อการค้า ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ และห้ามจำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้เพื่อควบคุมการใช้ช่อดอกกัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งต้องมีการปลูกโดยไม่ใช้สารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เพราะจะใช้ทำยาที่นำเข้าสู่ร่างกาย หากตรวจพบสารพิษแม้แต่น้อย จะเป็นอันตรายมาก
ดังนั้นการจะปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพใช้ในทางการแพทย์ จะต้องรู้วิธีปลูกในแบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งเกษตรกรที่จะปลูกเพื่อนำช่อดอกไปใช้อย่างเสรี ก็ปลูกได้เฉพาะสายพันธุ์ที่มีสาร CBD เท่านั้น ส่วนใครที่จะปลูกสายพันธุ์ที่มีสาร THC จะต้องไปขอใบอนุญาตปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก มาถามถึงแหล่งจำหน่าย แต่ทาง มทส.มีหน้าหน้าเฉพาะการวิจัยเท่านั้น เรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นหน้าที่ของเกษตรกรเอง
ยิ่งกัญชาเป็นพืชใหม่ที่ไม่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย ยิ่งต้องหาแหล่งขายใหม่ ซึ่งเกษตรกรคาดหวังว่าจะสามารถขายช่อดอกได้ในราคากิโลกรัมละ 70,000 บาทขึ้นไป จึงพากันแห่มาปลูกกัญชากันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จะขายให้ใคร เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เปิดเสรีให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออก ต้องขายในประเทศที่หาคนซื้อแทบจะนับคนได้ เมื่อช่อดอกมีจำนวนมากกว่าความต้องการซื้อ ก็จะขายได้ในราคาถูก เพราะช่อดอกกัญชาไม่มีราคากลาง ขนาดกิโลกรัมละ 5,000 บาท ก็ต้องยอมขายเลย ที่พูดกันว่าจะขายได้กิโลกรัมละหลายหมื่นเป็นเพียงแค่พูดกันไปเองทั้งนั้น
ดร.นันทกร กล่าวอีกว่า กลุ่มวิสาหกิจที่มาขอคำแนะนำการปลูกกัญชาที่ มทส. ตนจะถามก่อนว่าให้ไปหาตลาดก่อน ถ้ายังหาตลาดไม่ได้อย่าปลูกเลย จะเสียเวลาและขาดทุนเปล่าๆ แต่ถ้าจะขายให้หน่วยงานกลาง เช่นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เขาก็รับซื้อได้เพียงปริมาณจำกัด ไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมดแน่
ดังนั้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ต้องไปสืบหาว่ามีหน่วยงานใดบ้าง ที่จะสามารถซื้อช่อดอกกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น หน่วยงานแพทย์แผนไทย, รพ.สต.ที่มีนโยบายนำกัญชาไปผลิตเป็นยาใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น และถ้าอยากจะขายให้ได้ราคาสูง ก็ต้องควบคุมคุณภาพให้ได้เกรด A ซึ่งเรื่องการปลูกกัญชาเชิงคุณภาพ ทาง มทส.มีองค์ความรู้เหล่านี้อยู่เต็มเปี่ยม สามารถมาขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา