นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง

Home » นักระบาดฯ แฉ สสจ.นครศรีฯ เจอกดดันหนัก! หลังแถลงข่าว ATK ให้ผลตรวจเบี่ยงเบนสูง

นักระบาดวิทยาไขปริศนา 392 ตัวอย่างกรณีศึกษา ATK ยี่ห้อ Lepu หลัง สสจ.นครศรีธรรมราช สั่งห้ามทุก รพ. ใช้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แจงตัวเลขชัดเจนเหตุความไวในการตรวจหาเชื้อต่ำมาก ยัน สสจ.เจอกดดันหนักจากผู้บริหารระดับสูง

วันนี้ (8 ต.ค.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจในบริเวณที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ที่มาตรวจในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้ชี้ความเสี่ยงและนำมาตรวจหาเชื้อ โดยมีการตรวจทั้งระบบ ATK ซึ่งใช้ ATK ที่เรียกว่า “โปรเฟสชันแนล ยูส” หรือ ATK สำหรับแพทย์ใช้ตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง หลังจากนั้นผู้ที่พบเชื้อจะถูกเคลื่อนย้ายส่งสถานพยาบาลทันที พร้อมทั้งตรวจยืนยันซ้ำด้วยระบบ RT-PCR เพื่อยืนยันเชื้อตามระบบการปฏิบัติการชั้นสูงในห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ เมื่อสองวันที่ผ่าน นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แถลงถึงกรณีที่เป็นข่าวและได้รับความสนใจในการจัดซื้อ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ ของ สปสช. จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพจากหลายฝ่ายอยู่แล้ว และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งห้ามทุกโรงพยาบาลนำ ATK ชนิดนี้ไปใช้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และให้แพทย์รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ใช้ ATK ที่เป็นแบบ “โปรเฟสชันแนล ยูส” หรือ ATK ที่ใช้ในระดับบุคลากรการแพทย์เนื่องจากพบผลความเบี่ยงเบนสูง โดยการแถลงข่าวครั้งที่สองนั้น นพ.จรัสพงษ์ ระบุว่า ได้มีการศึกษาการใช้ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 392 ตัวอย่าง พร้อมทั้งระบุว่า ATK ดังกล่าวนั้นให้ใช้สำหรับประชาชนตรวจด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่ม : เมืองคอนสั่ง รพ. ห้ามใช้ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง หลังเจอผลบวกลวงครึ่งต่อครึ่ง

อย่างไรก็ตาม นักระบาดวิทยาผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งในภาคใต้ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวเองเนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบ ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชแถลงข้อมูลออกไปนั้นทำให้ถูกกดดันจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังออกหน้าในเรื่องนี้ด้วยตัวเองพร้อมกับสื่อสารในทำนองให้นายแพทย์ สสจ.นครศรีธรรมราชแถลงข้อมูลใหม่ โดยระบุว่าอาจเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดทำให้นักระบาดฯ และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เลือกที่จะนิ่งกับเรื่องนี้

แต่สำหรับตัวเลขที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นได้มีการศึกษาจำนวน 392 ตัวอย่างเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์สาธารณสุขได้เปิดเผยตารางและตัวเลขออกมา ผู้ที่ไม่อยู่ในวงการระบาดอาจมองไม่ออกว่ามีผลอย่างไรบ้าง มีตัวเลขชี้ผลหมายถึงอะไร

“ข้อเท็จจริงในการศึกษาจำนวนนี้มีผลที่น่าตกใจ กล่าวคือ จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผล ATK กับผล RT-PCR ในบุคคลเดียวกัน โดยเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด (High risk contact) ในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 392 คน พบว่า มีผลลบลวงในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิดจริงเท่ากับ 73% (หมายถึง ATK ให้ผลเป็นลบ จำนวน 122 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อจริงที่มีผล RT-PCR เป็นบวก จำนวน 167 คน) ทำให้สามารถคำนวณค่าความไว (Sensitivity) ได้เท่ากับ 27% (คำนวณจากผล ATK เป็นบวกจำนวน 45 คนจากการตรวจในผู้ติดเชื้อโควิดจริงที่มีผล RT-PCR เป็นบวกจำนวน 167 คน) ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าความไวของชุดคัดกรองที่ดีจะต้องสูงถึง 70-90% ขึ้นไปจึงจะมีประโยชน์ในการคัดกรองได้ ส่วนที่สำคัญคือผู้ป่วยที่มีผลลบลวง ซึ่งเชื่อว่าตนเองไม่มีการติดเชื้อจะสามารถไปแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่นได้ง่าย โดยไม่ได้ระมัดระวังตัว ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ นี่คือผลทางวิทยาศาสตร์ที่ออกมาอย่างชัดเจน” นักระบาดวิทยารายนี้อธิบายอย่างละเอียดกับผู้สื่อข่าว

table-nagarasri-atk-lepu-081021

นักระบาดฯ รายเดิมยังชี้อีกว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ จะมาเบี่ยงเบนไม่ได้ นอกจากนี้อีกไม่กี่วันจะมีตัวเลขในการศึกษาวิจัย ATK ออกมาอีก ตนทราบว่ามาจากภาคใต้ตอนล่าง ผลการวิจัยจะเป็นตัวชี้ชัดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผู้บริหาร สปสช. และกรมที่เกี่ยวข้องควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ