นักกฎหมาย ชี้ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

Home » นักกฎหมาย ชี้ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร


นักกฎหมาย ชี้ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

นักกฎหมาย ชี้ พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ต้องยกเลิก เนื่องจากพ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสถานการณ์จริง

วันที่ 8 พ.ค. 66 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยกรณีกรมสรรพากรประกาศเปิดรับฟังความเห็น พระราชกําหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 ที่จะเก็บจากการเดินทางโดยทางอากาศ ครั้งละ 1,000 บาท การเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำ ครั้งละ 500 บาท โดยกำหนดรับฟังตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม – 17 พฤษภาคม 2566 ว่า ต้องออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เนื่องจากพ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสถานการณ์จริง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การออกพระราชกำหนดต้องเป็นเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งพระราชกำหนดฉบับนี้ ในการออกบังคับใช้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 พฤศจิกายน 2526 ได้ระบุเหตุผลการออกกฎหมายว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันผ่านมาถึง 40 ปี ก็ยังไม่มีการเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และประเทศชาติก็ยังมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจดีอยู่ แสดงว่าไม่เป็นเรื่องฉุกเฉินที่ที่มีความเร่งด่วนอันมิอาจเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด

นอกจากนี้พระราชกำหนดยังอ้างความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร ซึ่งการดูแลเรื่องเงินตรา ทุนสำรองเงินตรา เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดให้กรมสรรพากรซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ต้องมารับผิดชอบ

  • อ่าน ‘กรมสรรพากร’ แจงแล้ว ปมเก็บภาษีเดินทางออกนอกประเทศ เผยมีการยกเว้นตั้งแต่ปี 34

อีกทั้งพระราชกำหนดนี้เรียกเงินที่เก็บจากคนไทยและผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรว่า “ภาษี” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะภาษีต้องมาจากรายได้ หรือกำไร หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจที่บุคคลหรือนิติบุคคลได้ ถ้ามีการจัดเก็บควรเป็น “ค่าธรรมเนียม” ในการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรในการจัดเก็บ

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กรมสรรพากรจะชี้แจงว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2534 เนื่องจากมีกฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2534 ให้ยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทางอากาศ แต่ก็อาจมีการประกาศกฎกระทรวงออกมาให้เสียภาษีการเดินทางอีกเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นกรมสรรพากรควรรีบเสนอร่างพราะราชบัญญัติยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้โดยเร็ว เพราะอีกไม่นานก็จะมีสภาผู้แทนราษฎรมาปฏิบัติหน้าที่ออกกฎหมายแล้ว

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีขึ้นพิจารณาและมีนโยบายในการแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ