จากที่เป็นคนนอน 6-8 ชั่วโมงตามปกติ กลายเป็นคนที่ต้องนอน 9-10 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นแล้วถึงจะรู้สึกหายง่วง หากเพิ่งจะเป็นแบบนี้ในช่วงปี หรือเดือนที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากภาวะเครียด หรือซึมเศร้าได้
แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือหมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวถึงระยะการนอนที่เหมาะสมไว้ในพอดแคสต์ Single Being EP.49 ว่า National Sleep Foundation ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ระยะการนอนที่เหมาะสมสำหรับคนวัย 18-64 ปี คือ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน จึงจะทำให้มีสุขภาพที่ดี หมอหลายท่านแนะนำให้นอนราว 7-8 ชั่วโมงจะดีที่สุด แต่จำนวนชั่วโมงในการนอนอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม เช่น มีบางคนที่มี “ยีนส์นอนน้อย” จนทำให้สามารถนอนแค่เพียง 4-5 ชั่วโมงก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ง่วงไม่เพลีย
- “ยีนนอนน้อย” คำอธิบายของคนที่นอนไม่กี่ชั่วโมง แต่สดใสเหมือนนอนเต็มที่
แต่คนที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่ว่าจะเข้านอนเวลาไหนก็ตาม แต่หากนับเวลานอนแล้วมากกว่า 9 ชั่วโมง จะเรียกว่าเป็นการนอนที่ “มากเกินไป”
- นอนกี่ชั่วโมง ถึงจะ “พอดี” กับ “อายุ”
สาเหตุของการนอนมากเกินไป
การที่ใครสักคนจะนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะรู้สึกหลับเต็มตื่น ไม่ง่วงเพลีย อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยเหล่านี้
- พันธุกรรม พบว่า 2% ของประชากรทั้งหมดอาจมีพฤติกรรมการนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงตั้งแต่เด็ก สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี
- ผลข้างเคียง หรืออาการจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคอุดกั้นทางเดินหายใจระหว่างนอน (นอนกรน และหยุดหายใจขณะนอน) โรคลมหลับ (ง่วงนอนตลอดทั้งวัน)
- นอนไม่อยากตื่น อาจเป็นหนึ่งในอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือโรคเครียด
“นอน” มากเกินไป ส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
การนอนมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอันตรายเหล่านี้
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วนลงพุง
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคซึมเศร้า
- ปวดหลัง
- ปวดศีรษะ
วิธีปรับเวลานอนให้ดีต่อสุขภาพ
- ตั้งเวลาเข้านอน และตื่นนอนไม่เกิน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน
- เข้านอน และตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน รวมถึงเสาร์อาทิตย์ เลื่อนเวลาได้ไม่เกิน 30 นาที
- ไม่กินอาหารเย็นดึกจนเกินไป (เพราะต้องกินข้าวเย็นก่อนนอนอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง)
- ไม่กินอาหารเย็นมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เรานอนดึกเกินไป รวมถึงคุณภาพในการนอนไม่ดีเท่าที่ควร
- งดใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดก่อนนอน เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจออาจทำให้เราไม่ง่วง รบกวนคุณภาพในการนอนได้
- ผ่อนคลายความเครียดก่อนเข้านอน ด้วยการทำกิจกรรมเบาๆ เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือเนื้อหาสบายๆ ฟังเพลงช้าๆ เบาๆ
- ตอนเช้าให้เปิดผ้าม่านให้แสงสว่างเข้ามาในห้อง ใครที่ตื่นยากอาจนอนเปิดผ้าม่านเอาไว้ก็ได้
- สัมผัสกับแสงแดดในตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายกระตุ้นนาฬิกาชีวภาพของเราให้ทำงาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เลี่ยงนอนกลางวันมากเกินไป ไม่นอนกลางวันเกิน 20-30 นาที และหลีกเลี่ยงการนอนกลางวันหลัง 16.00 น.
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ก่อนนอนว่า ในวันรุ่งขึ้นจะทำอะไร เลือกกิจกรรมที่อยากทำ หรือหาจุดประสงค์ของการตื่นนอนในทุกๆ วันว่าเราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อใคร เพื่อทำอะไร
หากเพิ่งเริ่มมีพฤติกรรมในการนอนมากเกินไปไม่นาน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง